คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ….” เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1666/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักของคดีนี้ โจทก์ขอให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 32 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 32 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ….” เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1666/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักของคดีนี้ โจทก์ขอให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องอีก
พิพากษายืน

Share