แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 2 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่ชอบ หาก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่จำเลยทั้งสองไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 85,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพิ่มอีก 100,000 บาท เท่ากับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวน 185,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอนาคตดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาสำหรับคดีของโจทก์ทั้งสองเกินกว่า 50,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ ก็เป็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองหามีผลย้อนไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ซึ่งต้องห้ามให้กลับมีขึ้นมาใหม่ไม่ เพราะสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของคู่ความนั้น จำต้องพิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความแต่ละฝ่ายแยกต่างหากจากกัน มิเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นว่าสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กล่าวคือ หากโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงด้วย หากโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริง มิได้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีคงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอย่างเดียว ซึ่งข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองผู้แพ้คดีต้องใช้แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ทั้งสองก็เป็นจำนวนที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 4,869,980.65 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,771,238.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 85,480.65 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองอีกคนละ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 15 โจทก์ที่ 2 พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 15/2 ซอยสุขุมวิท 39 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด 34 ชั้น เลอ รัฟฟิเน่ ชมพูทวีป สุขุมวิท 39 ซอยสุขุมวิท 39 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างโครงการดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ที่ 1 ประมาณ 20 เมตร ห่างจากบ้านโจทก์ที่ 2 ประมาณ 32.2 เมตร
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองต่างฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 2 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่ชอบ หาก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่จำเลยทั้งสองไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 สำหรับคดีของโจทก์ที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 85,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพิ่มอีก 100,000 บาท เท่ากับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวน 185,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอนาคตดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้คดีนี้โจทก์ทั้งสองจะได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาสำหรับคดีของโจทก์ทั้งสองเกินกว่า 50,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ ก็เป็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองหามีผลย้อนไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ซึ่งต้องห้ามให้กลับมีขึ้นมาใหม่ไม่ เพราะสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของคู่ความนั้น จำต้องพิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความแต่ละฝ่ายแยกต่างหากจากกัน มิเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นว่าสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กล่าวคือ หากโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงด้วย หากโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริง มิได้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีคงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอย่างเดียว ซึ่งข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองผู้แพ้คดีต้องใช้แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ทั้งสองก็เป็นจำนวนที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับคดีของโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ที่ 2 มิได้ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าทนทุกข์ทรมานจิตใจว่า โจทก์ที่ 1 ควรได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการทนทุกข์ทรมานจิตใจเพิ่มอีก 350,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ก่อสร้างอาคารพักอาศัยเสร็จเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ขณะโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 การก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ที่ศาลอุทธรณ์คิดคำนวณค่าเสียหายส่วนนี้ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 จึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้โต้แย้งว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 แล้วเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตรงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย มิได้เป็นไปดังที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาก็ตาม แต่การที่บ้านพักของโจทก์ที่ 1 ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 39 ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นย่านชุมชนและย่านการค้าที่มีความเจริญมาก โจทก์ที่ 1 จึงควรคาดหมายได้ถึงความแออัดและความไม่สะดวกจากการสร้างอาคารที่พักอาศัยที่จะมีตามมา ซึ่งย่อมจะต้องก่อความรำคาญให้แก่โจทก์ที่ 1 ไม่มากก็น้อย แต่การที่จำเลยที่ 2 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2549 ถึงระยะเวลาตามที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกา นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เมื่อการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 ส่งเสียงดัง มีฝุ่นละออง และเศษหินตกลงมาภายในบ้านของโจทก์ที่ 1 ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพอนามัยของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากการทนทุกข์ทรมานที่ต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าว อันเป็นค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคแรก ได้ และเมื่อคิดคำนวณเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ต้องทนทุกข์ทรมานแล้ว เห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมายังไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด แต่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาก็สูงเกินควร ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ 250,000 บาท ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 1 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางไปพักผ่อนที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 60,000 บาท นั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการที่โจทก์ที่ 1 เดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าจะฟังได้ว่าเป็นเพราะไม่สามารถทนต่อการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 ได้ จึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับค่าเช่าบ้าน 600,000 บาท ที่โจทก์ที่ 1 ต้องเสียไประหว่างที่จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคาร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ต้องย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่อื่นเป็นระยะเวลา 1 ปี นั้น ก็ได้ความจากโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า พลโทชยุติ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเช่าดังกล่าว เป็นหลานของโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 กับพลโทชยุติเป็นพี่น้องกัน และพลโทชยุติให้โจทก์ที่ 1 พักอาศัยไปก่อน แล้วค่อยชำระค่าเช่าภายหลัง แต่จนปัจจุบันนี้โจทก์ที่ 1 ก็ยังมิได้ชำระค่าเช่า ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสัญญาเช่าบ้าน มาแสดงต่อศาลก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 นำสืบให้เห็นได้ว่าได้เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปจริง โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 285,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์สำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์