แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือเดินสมุทรชื่อไตชุนชาน ซึ่งอยู่ต่างประเทศ ให้รับผิดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแก่โจทก์ เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของกัปตันผู้ควบคุมเรือดังกล่าว ซึ่งเป็นลูกจ้างของเจ้าของเรือ ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างระหว่างเข้ามาในประเทศไทย เป็นเหตุให้เรือดังกล่าวนั้นกระแทกเรือของโจทก์แตกและจมเสียหาย ตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศจะต้องรับผิดตามลำพังตนเองก็แต่เฉพาะกรณีตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการเท่านั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทนต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตัวการได้กระทำไปในหน้าที่การงานของตัวการด้วยเลย ไม่ว่าตัวการจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศ ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเองตามที่โจทก์ฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 987/2506)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงจ้างเรือยนต์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกัปตันผู้คุมเรือ ให้ลากจูงเรือลำเลียงกิมซุ่นไถ่ของโจทก์ ระหว่างลากจูงไปตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงร่องน้ำสันดอนตรงทุ่นไฟแดง ได้มีเรือเดินสมุทรไตชุนชานซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของเจ้าของเรือ และจำเลยที่ 2 เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ แล่นสวนทางมาท้ายเรือดังกล่าวกระแทกกราบเรือของโจทก์แตกและจมลงด้วยความประมาทของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 โจทก์ถอนฟ้อง
จำเลยที่ 3, 4 ให้การว่า จำเลยมิได้ประมาท ไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 355,007 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของเจ้าของเรือไตชุนชาน ซึ่งอยู่ต่างประเทศ มีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนให้รับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ควบคุมเรือของตัวการได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์ฟ้องอ้างให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้น คือโจทก์จะให้ตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดตามลำพังตนเอง แต่ในกรณีเช่นนี้ตามกฎหมายอาจเป็นไปได้ก็เฉพาะในกรณีตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการ เท่านั้น ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ได้บัญญัติไว้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทน ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตัวการได้กระทำไปในหน้าที่การงานของตัวการด้วยเลยไม่ว่าตัวการจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศ และเอกสารหมาย จ.4 จ.6 ก็ไม่ใช่สัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการ ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง ดังนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 987/2506 ระหว่างบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด โดยนางพัชรา นาวิกผล และนายเปรม ทวีกุล กรรมการผู้จัดการ โจทก์ บริษัทเอเวอเร็ทท์สตีมชิป คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับพวก จำเลย เหตุนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามเหตุที่กล่าวในฟ้องได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืน