แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 บัญญัติว่าเมื่อมีการลงโทษตามมาตรา 101,111,117,118,119,120,121 หรือ 122 ให้ริบยาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตยารวมทั้งภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำลายเสียหรือจัดการตามที่เห็นสมควรนั้นเมื่อศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 102 จะนำบทบัญญัติในมาตรา 126 มาใช้บังคับในการริบยาของกลางไม่ได้
จำเลยเป็นผู้ขายยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นโภคภัณฑ์โดยไม่ปิดป้ายแสดงราคาเป็นความผิดตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 นั้น ความผิดของจำเลยอยู่ที่การงดเว้นไม่ปิดป้ายหรือแสดงราคา ยาอันเป็นโภคภัณฑ์ของกลางจึงไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งไม่ใช่ของที่จำเลยใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด (ไม่ริบ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ได้บังอาจขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งยา (ชนิดต่าง ๆ ที่ระบุชื่อมาในฟ้อง) อันเป็นยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นการขายยาไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต และมิได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัติยา และได้บังอาจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยไม่มี ไม่เขียน ไม่พิมพ์ป้ายแสดงราคายา กับกระบอกสำหรับฉีดยา อันเป็นโภคภัณฑ์ที่จำเลยมีไว้สำหรับจำหน่าย ให้ถูกต้องตามลักษณะและวิธีการซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 19, 101, 102, 126 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุยาอันตราย ลงวันที่ 8 มกราคม 2511 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3,4,5,6,9 พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3,4,5 พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2497 มาตรา 3 กฎกระทรวง พ.ศ. 2495 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ข้อ ง. และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510มาตรา 102 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 9ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทหนัก ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้วจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ของกลางเป็นโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495มาตรา 9 จึงให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกโทษจำคุกและคืนของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในเรื่องโทษและของกลาง เป็น ให้ยกโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 คืนของกลางให้จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า ยาโภคภัณฑ์ของกลางเป็นของควรต้องริบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ได้บังอาจขายยาและมีไว้เพื่อขายซึ่งยาชนิดต่าง ๆ ตามฟ้องซึ่งเป็นยาอันตราย เป็นการขายยาไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยเป็นผู้ขายยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นโภคภัณฑ์ประเภทยาและเวชภัณฑ์ไม่ปิดป้ายแสดงราคาดังกล่าว และกระบอกสำหรับฉีดยาอันเป็นโภคภัณฑ์ที่จำเลยมีไว้สำหรับจำหน่ายให้ถูกต้อง
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานขายยาไม่ตรงตามใบอนุญาตแล้ว ยังถือว่าได้ขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอีกด้วย ยาของกลางจึงต้องริบตามมาตรา 126 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 126บัญญัติว่า เมื่อมีการลงโทษตามมาตรา 101 มาตรา 111 มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 119 มาตรา 120 มาตรา 121 หรือมาตรา 122 ให้ริบยาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตยา รวมทั้งภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 102ฉะนั้น จึงจะนำบทบัญญัติ มาตรา 126 มาใช้บังคับในการริบยาของกลางในคดีนี้ไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ยาโภคภัณฑ์ของกลางในคดีนี้เป็นโภคภัณฑ์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามนัยความหมายแห่งมาตรา 9 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ควรริบ นั้น เห็นว่าความผิดของจำเลยอยู่ที่การงดเว้นไม่ปิดป้ายหรือแสดงราคา ฉะนั้น ยาของกลางจึงไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของจำเลย ทั้งไม่ใช่สิ่งของที่จำเลยใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด
พิพากษายืน