คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6501-6502/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท โดยโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วย และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก เมื่อโจทก์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีแพ่ง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้นแม้จำเลยร่วมซึ่งซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 มิใช่จำเลยในคดีส่วนอาญาที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาบุกรุกด้วย แต่โจทก์ในคดีนี้หาใช่บุคคลภายนอกคดีไม่เพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญา ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงมีผลผูกพันโจทก์ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยร่วมฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ อยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลวังน้ำเขียวอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 23 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 นำรถแทรกเตอร์เข้าไปขุดไถที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ราคาประมาณ 200,000 บาท เป็นเหตุให้มันสำปะหลังที่โจทก์ ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 16,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้ามาบุกรุกทำประโยชน์และเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสมใจหรือโข่พันธ์เกษม เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมสำนวนแรกให้นายทำนองเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ เป็นของจำเลยร่วมโดยได้รับมอบการครอบครองจากจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2522 นับแต่นั้นมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยร่วมและจำเลยร่วมได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในฐานะเจ้าของติดต่อกันตลอดมา โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ โดยได้รับมอบการครอบครองมาจากนายจรูญศรสูงเนิน เพื่อเป็นการชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2522 หลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2532 นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม บุตรโจทก์ได้นำรถแทรกเตอร์ไปรับไถที่ดินเพื่อปลูกพืชไร่ แต่ถูกจำเลยแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุก หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้เข้าไปปลูกพืชไร่แทน โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการให้เช่าที่ดินในอัตราไร่ละ 500 บาท ต่อปี คิดเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลวังน้ำเขียวอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ให้จำเลยเก็บเกี่ยวหรือขุดถอนพืชไร่ออกไปจากที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยไม่ยอมเก็บเกี่ยวหรือขุดถอนพืชไร่ให้โจทก์เป็นผู้เก็บเกี่ยวขุดถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี และค่าเสียหายปีละ 100,000 บาท ให้แก่โจทก์นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเก็บเกี่ยว ขุดถอน หรือขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท

จำเลยสำนวนหลังให้การว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 จำเลยซื้อที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทจากนางอนงค์ นิลเนาวรัตน์โชติจากนั้นจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา นายจรูญ ศรสูงเนินไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่เคยมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่ปี 2532 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ เรียกโจทก์ในสำนวนหลังซึ่งเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 7 ส่วนจำเลยอื่นให้เรียกจำเลยตามลำดับคงเดิม

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 6 ถึงแก่กรรม ไม่มีคำขอของทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในสำนวนคดีหลัง ให้โจทก์เก็บเกี่ยวขุดถอนพืชไร่ออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 7,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 7 กับค่าเสียหายอีกปีละ 7,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเก็บเกี่ยวขุดถอนพืชไร่และขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีแรก

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม นางบานเย็น ชุ่มกิ่งทายาทของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 7 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วย และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกดังที่โจทก์ฟ้อง ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 725/2535 ของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อโจทก์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีส่วนแพ่ง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 7 มิใช่จำเลยในคดีส่วนอาญาที่ถูกพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องในข้อหาบุกรุกด้วยแต่โจทก์ในคดีนี้หาใช่บุคคลภายนอกคดีไม่ เพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงมีผลผูกพันโจทก์ ทั้งมีประเด็นโดยตรงที่ต้องพิจารณาในคดีนี้ด้วยว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงประเด็นดังกล่าวไว้ในคดีส่วนอาญาว่า “ตามคำเบิกความของนางอนงค์ แสดงชัดว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตที่ดินซึ่งนางอนงค์ขายให้แก่โจทก์ร่วม อันเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของฝ่ายจำเลย ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 และที่ 4ต่อมาเมื่อปี 2522 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ขายให้แก่นางสมใจ พันธ์เกษมมารดาของจำเลยที่ 6 ดังนี้ กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม” ศาลจึงชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ศาลไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 7 ฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงไม่ชอบเพราะขัดกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์อันเป็นที่ยุติว่า กรณียังฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เห็นว่าตามทางนำสืบของฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 2 และที่ 5 ซึ่งเป็นสามีภริยากันได้เบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า พยานทั้งสองร่วมกันแผ้วถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ประมาณ 220 ไร่ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.3และแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.2 จนถึงปี 2522 จึงขายที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 และจำเลยที่ 7 ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 7 จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์และรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยที่ 7เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share