คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมอายุ 18 ปีเศษ แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วม เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกัน โดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๑ คน ที่หลบหนีไปร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ที่ห้องพักในโรงแรม ช. ทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้ายปลุกปล้ำจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ๑ ครั้ง ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๗๖, ๓๑๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก, ๓๑๐ วรรคแรก, ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก ๑ ปี และฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๖ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดสองกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมแล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยความมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาว่า เป็นความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก, ๓๑๐ วรรคแรก, ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยมีกำหนด ๕ ปี.

Share