แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นอุทธรณ์และขอให้มีหนังสือไปยังศาลจังหวัดสงขลาเพื่อจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย ต่อมาโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ได้ ขอสืบหาภูมิลำเนา ศาลชั้นต้นสั่งว่า “อนุญาตให้สืบหาภูมิลำเนาได้ภายในวันที่ 20 มกราคม 2542” วันที่ 6 มกราคม2542 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยตาย ขอตรวจสอบทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์มรดก และสืบว่ามีทรัพย์มรดกหรือไม่แล้วจะขอให้เรียกเข้ามาแทนที่จำเลย หรือกรณีที่จำเลยไม่มีทรัพย์มรดกโจทก์จะถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า “อนุญาตถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์2542” คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42 แต่เป็นดุลพินิจที่จะสั่งได้เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว โจทก์มีหน้าที่ต้องดำเนินการ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการจึงถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และตามมาตรา 132(1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 18มีนาคม 2542 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์ไม่สามารถนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบหาทายาทจำเลยที่ 1ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มิได้ดำเนินการศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอตรวจสอบทายาทหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 และสืบว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอให้โจทก์ตรวจสอบและยื่นคำร้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกเข้ามาแทนที่จำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องโจทก์ให้โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ที่โจทก์มีสิทธิร้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกเข้ามาแทนที่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์โจทก์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 ว่า “รับอุทธรณ์ของโจทก์ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์” และในวันเดียวกับที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสงขลาขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือไปยังศาลจังหวัดสงขลาเพื่อจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจัดการให้ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าพนักงานเดินหมายของศาลจังหวัดสงขลารายงานว่า ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากเป็นบ้านเช่าและจำเลยที่ 1 ย้ายไปอยู่ที่อื่นขอสืบหาภูมิลำเนาที่แน่นอนของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “อนุญาตให้โจทก์สืบหาภูมิลำเนาของจำเลยได้ภายในวันที่ 20 มกราคม 2542” วันที่ 6มกราคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ขอตรวจสอบทายาทหรือผู้จัดการมรดกจำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 และสืบว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่เมื่อได้ข้อเท็จจริงประการใดแล้ว โจทก์จะร้องขอให้มีคำสั่งเรียกทายาทหรือบุคคลอื่นใดเข้ามาแทนที่จำเลยหรือกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์มรดกโจทก์จะได้ขอถอนอุทธรณ์ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “อนุญาตถึงวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2542″ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังที่โจทก์ฎีกาแต่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งได้เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว โจทก์มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามคำร้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากโจทก์มีเหตุไม่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ชอบที่จะแจ้งเหตุให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อขอขยายระยะเวลาหรือขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรหรือหากไม่เห็นพ้องกับคำสั่งศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งในภายหลังได้การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำร้องโดยไม่แจ้งเหตุให้ศาลชั้นต้นทราบภายในกำหนดเวลา ต้องถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และตามมาตรา 132(1) ซึ่งนำมาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลมบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องนี้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน