คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9749/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสถาบันของจำเลย การที่โจทก์นำผู้ใต้บังคับบัญชาไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อพบลูกค้าของจำเลยจึงเป็นการออกไปทำงานให้แก่จำเลยตามหน้าที่ระหว่างโจทก์ออกไปพบลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ลูกค้าจำเลยโทรศัพท์มาขอยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้น แต่โจทก์ไม่สามารถกระทำการยกเลิกให้ได้ โจทก์จึงแจ้งรหัสผ่านและชื่อผู้เข้าใช้ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์แก่ ส. เพื่อเข้าระบบไปยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้น เป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความเสียหายของจำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์ยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นไม่ทัน จึงแก้ไขโดยขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่ จ. ลูกค้าอีกรายในราคาที่ซื้อมาโดยมิได้ปฎิบัติตามระเบียบว่าด้วยวิธีการโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดพลาดเข้าบัญชีของบริษัท ซึ่งโจทก์ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว การกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะลงโทษโจทก์ถึงขั้นเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายและค่าตอบแทน 13,358,427.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและยกเลิกหนังสือลงโทษปลดออกกับแจ้งประกาศหนังสือพิมพ์รายวันธุรกิจ 2 ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 เวลา 10 ถึง 11 นาฬิกาโจทก์ได้รับคำสั่งซื้อหลักทรัพย์ทางโทรศัพท์จากลูกค้าสถาบันรายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ (SCB Bank For Provident Fund) ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเลขที่บัญชี 99 – 27000 – 1 จำนวน 3 รายการ คือ หลักทรัพย์ของบริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ท็อค (TOC) 5,000 หุ้น หุ้นละ 59.50 บาท บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ท็อบ (TOP) 220,900 หุ้น หุ้นละ 67.50 บาท และหลักทรัพย์ของบริษัทชิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ สเต็ค (STEC) 1,235,000 หุ้น หุ้นละ 11.70 บาท โจทก์ให้เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาส่งคำสั่งซื้อเข้าไปในระบบ ตามหุ้น จำนวนหุ้น ราคาหุ้น ที่ลูกค้าสั่งซื้อ เว้นแต่หุ้นของบริษัทชิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ส่งคำสั่งซื้อเพียง 435,000 หุ้น หุ้นละ 11.70 บาท เวลา 12.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดทำการในช่วงเช้า โจทก์และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดอีก 2 คน ออกจากสำนักงานของจำเลยเดินทางด้วยรถยนต์ของจำเลยที่โจทก์ขออนุญาตใช้ไว้แล้วเพื่อไปพบกับบริษัทสามัคคีประกันภัย จำกัด(มหาชน) ลูกค้าสถาบันของจำเลยที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวซึ่งโจทก์ได้นัดไว้ก่อนล่วงหน้าเช่นเดียวกัน โจทก์แนะนำผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้รู้จักกับลูกค้าพร้อมกับรับใบจองหุ้นของบริษัทพรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) จากลูกค้า เสร็จธุระและรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วจึงออกเดินทางกลับสำนักงานเวลา 14 นาฬิกาเศษ ขณะนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังไม่เปิดทำการในช่วงบ่าย ในวันดังกล่าวตอนบ่ายศาลปกครองนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับการขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งชะลอการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไว้ก่อน ระหว่างนั้นมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นที่ห้องทำงานของโจทก์ขณะที่โจทก์กับทีมงานไม่อยู่หลายครั้ง ต่อมาโจทก์ได้รับทราบทางโทรศัพท์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ลูกค้าในระหว่างเดินทางกลับว่าศาลปกครองมีคำสั่งให้ชะลอการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไว้ก่อนประสงค์จะขอยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นทั้ง 3 รายการดังกล่าว โจทก์จึงโทรศัพท์ถึงนายสุรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด 4/1 ของจำเลยช่วยเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์โดยโจทก์ได้ให้รหัสผ่าน (Password) และรหัสประจำตัวของโจทก์หรือชื่อผู้เข้าใช้ (User) แก่นายสุรัตน์ ขอให้นายสุรัตน์เข้าระบบการซื้อขายเพื่อยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นทั้ง 3 รายการนั้น แต่ไม่สามารถยกเลิกได้เพราะคำสั่งซื้อดังกล่าวได้รับการยืนยันการซื้อแล้วทั้งหมด เวลาประมาณ 14.40 นาฬิกา โจทก์และทีมงานกลับถึงสำนักงาน โจทก์ได้ใช้คอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่เปิดอยู่เข้าระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ ในคอมพิวเตอร์พบว่าคำสั่งซื้อหุ้นทั้ง 3 รายการได้รับการยืนยันแล้ว โจทก์สอบถามไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ลูกค้าก็ได้รับคำยืนยันกลับมาว่าขอยกเลิกการซื้อหุ้นทั้ง 3 รายการจริงจึงเป็นรายการผิดพลาดจากการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้องตามคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งจะต้องมีการแก้ไข โจทก์ใช้วิธีแก้ไขโดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งราคาขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในราคาที่ซื้อมาไม่ได้ใช้วิธีโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดพลาดเข้าบัญชีของบริษัท (Error Port)ตามระเบียบที่ 5/2543 ระเบียบวิธีปฏิบัติ เรื่อง การอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลย ระหว่างนั้นโจทก์ได้หารือกับนายสุรัตน์ว่ามีลูกค้ารายใดที่จะรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดหรือไม่ นายสุรัตน์ติดต่อลูกค้ารายย่อยรายนางวารุณีได้ ต่อมามีหลักฐานเบื้องต้นในวันเดียวกันตามแบบคำขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการซื้อขายหลักทรัพย์และใบเมมโม (MEMO) ที่โจทก์ชี้แจงเหตุผลในการขอเปลี่ยนแปลงมีนางสาวสุดธิดา ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์และนางวิไลวรรณ รองประธานกรรมการบริหารของจำเลยเป็นผู้ลงนามอนุมัติและรับทราบการเปลี่ยนแปลงชื่อลูกค้าผู้รับซื้อจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์เป็นนางวารุณีแทน ก่อนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดทำการในช่วงบ่ายมีการขายหลักทรัพย์ที่นางวารุณีรับซื้อไว้ดังกล่าวมีกำไร 140,000 บาท แต่ท้ายที่สุดนางวารุณีได้คืนกำไรนั้นทั้งหมดให้แก่จำเลยและจำเลยนำผลกำไร 140,000 บาทไปบริจาคแก่สภากาชาดไทย จำเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์จากบัญชีลูกค้าสถาบันคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ไปยังลูกค้ารายย่อยรายนางวารุณี ผลของการสอบสวนข้อเท็จจริงคณะกรรมการพบว่า มีผู้ทำความผิดหลายคนและจำเลยได้สั่งลงโทษไปแล้ว โดยลงโทษว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาแก่นางสาวสุดธิดาฐานปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ลงโทษว่ากล่าวตักเตือนนายวิโรจและนางสาวสุชาดาฐานเข้าทำงานไม่ตรงต่อเวลาเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายลงโทษไล่ออกโจทก์ฐานละทิ้งหน้าที่ กระทำและหรือละเว้นการกระทำตามข้อปฏิบัติการโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จำเลยกำหนด อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้รหัสประจำตัวเพื่อเข้าไปกระทำการใด ๆ ในระบบการซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามระเบียบว่าด้วยการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การตลาดและเจ้าหน้าที่รับอนุญาต ไม่รายงานผู้บังคับบัญชาทันทีเมื่อมีเหตุการณ์จากการปฏิบัติงานที่อาจจะส่งต่อความเสียหายต่อจำเลย จงใจหรือเจตนารายงานโดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือรายงานข้อมูลเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงหรือปกปิดข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชา และกระทำหรือละเว้นการกระทำตามนโยบาย Chinese Wall ของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย เห็นว่า การที่โจทก์นำผู้ใต้บังคับบัญชาไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวก็เพื่อไปพบลูกค้าของจำเลยรายบริษัทสามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามนัดหมายเสร็จภารกิจแล้วโจทก์ก็รีบกลับที่ทำงานทันที ซึ่งเป็นการออกไปทำงานให้แก่จำเลยตามหน้าที่ ดังนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ หากเป็นความบกพร่องของโจทก์อยู่บ้างก็คงมีเฉพาะกรณีที่โจทก์ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่รอประจำที่สำนักงานเพื่อรับสถานการณ์ความผันผวนของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสืบเนื่องมาจากเป็นวันที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งเรื่องการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงของโจทก์ ส่วนกรณีลูกค้าจำเลยรายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์แจ้งทางโทรศัพท์มายังโจทก์ขอยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นของบริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ชิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ในระหว่างเดินทางกลับจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวมายังบริษัทจำเลย โจทก์ก็รีบดำเนินการเพื่อยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นทันทีเพราะโจทก์ตระหนักดีว่าหากล่าช้ายกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นไม่ทันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่จำเลย แต่เนื่องจากโจทก์อยู่ระหว่างเดินทางกลับบริษัทจำเลย ไม่อาจเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์เพื่อเข้าระบบไปยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นได้ทันเหตุการณ์ จึงโทรศัพท์ถึงนายสุรัตน์ เพื่อแจ้งรหัสผ่าน (Password) และชื่อผู้เข้าใช้ (User) ขอให้นายสุรัตน์รีบเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์เข้าระบบไปยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นดังกล่าว การกระทำของโจทก์เช่นนี้แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของจำเลยว่าด้วยการรักษาความลับในกิจการของจำเลย แต่พอถือได้ว่าเป็นการกระทำเพราะมีเหตุจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับให้แก่บุคคลภายในหน่วยงาน ตามระเบียบที่ 16/2544 เรื่อง นโยบาย Chinese Wall ของบริษัทย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์กระทำไปโดยประสงค์จะปกป้องผลประโยชน์และความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลย ถึงจะยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นไม่ทันและเกิดความเสียหายแก่จำเลยก็ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามข้ออ้างของจำเลย สำหรับกรณีที่โจทก์ทราบเรื่องความผิดพลาดในการยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นแล้วไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาและไม่ใช้วิธีโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดพลาดเข้าบัญชีของบริษัท (Error Port) โจทก์กลับใช้วิธีแก้ไขโดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งราคาขายหลักทรัพย์ในราคาที่ซื้อมาให้แก่นางวารุณี ปรากฏว่าได้รับอนุมัติจากนางสาวสุดธิดา ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์และนางวิไลวรรณ รองประธานกรรมการบริหารของจำเลย ทั้งได้ความว่าหุ้นที่นางวารุณีรับซื้อไว้มีกำไร 140,000 บาท ในที่สุดนางวารุณีได้คืนกำไรทั้งหมดให้แก่จำเลยและจำเลยนำไปบริจาคต่อให้แก่สภากาชาดไทย จึงเห็นได้ว่าการกระทำของโจทก์แม้ฝ่าฝืนระเบียบที่กำหนดให้ใช้วิธีโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดพลาดเข้าบัญชีของบริษัทจำเลย (Error Port) แต่ก็ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว จะถือว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงหาได้ไม่ โดยสรุปการกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดอย่างร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะลงโทษโจทก์ถึงขั้นเลิกจ้างจำเลยเลิกจ้าง โจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,000,000 บาท นั้น เป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เห็นว่า ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์โดยคำนึงถึงผลงานที่โจทก์ทำให้จำเลยได้ลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และคำนึงถึงระยะเวลาการเลิกจ้างของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์ที่ถูกเลิกจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ได้รับและทางได้เสียและความสุจริตของโจทก์จำเลยแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share