คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 761 มิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน และในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้ โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินปันผลที่รับไว้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 921,195 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 864,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะรับเงินปันผลหรือจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ เห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 761 บัญญัติว่า “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อพิจารณาคำฟ้อง สัญญาปลดหนี้โดยมีเงื่อนไข สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมและหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน ลงวันที่ 25 เมษายน 2544 ประกอบกันแล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับชำระหนี้ 6,279,951.32 บาทจากจำนวน 46,394,295.69 บาท ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องให้โจทก์รับผิด โดยโจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงงวดเดียวภายในวันที่ 23 เมษายน 2544 ซึ่งโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็ค ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกันและในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังได้ระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จำเลยที่ 1 จึงขอแจ้งการปลดหนี้และปลดหลักประกันที่ให้ไว้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย ยังได้ความว่าในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้ออื่นๆ นั้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share