แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทางพิพาทอยู่บนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประชาชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น ผู้ครอบครองจึงไม่อาจนำที่ดินออกขาย แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อทำทางพิพาท ก็พอจะแปลเจตนาของคู่สัญญาได้ว่า เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้ทางพิพาท โดยได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท สัญญาดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม โจทก์เป็นบุตรของ อ. ผู้ซื้อ ส่วนจำเลยเป็นบุตรของ ผ. ซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ขณะ ห. รับเงินค่าตอบแทนการใช้ทางพิพาท ผ. ยังเป็นผู้ครอบครองอยู่ ปัจจุบันโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. และ ผ. ในที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่อนุญาตให้ใช้ทางพิพาทตามที่สัญญาไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปิดกั้นไม่ให้โจทก์ใช้ทางพิพาท ส่วนโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิจะขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์กว้างประมาณ 4 เมตร เป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็น ให้จำเลยรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณประโยชน์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายสุพล ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ ในตำแหน่งนายช่างสำรวจแล้ว พยานเบิกความรับรองว่า แผนที่ที่ดินทั้งแปลงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมซึ่งแต่เดิมเป็นเขตป่าสงวน ในแผนที่ไม่ปรากฏทางออกสู่ทางสาธารณะเนื่องจากขณะทำการรังวัดเจ้าของที่ไม่ยืนยัน จึงไม่ระบุเส้นทางออกดังกล่าวไว้ในแผนที่ จึงรับฟังสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากนายญาที่เบิกความว่า ที่ดินของพยานไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเช่นกันจำต้องเดินผ่านที่ดินแปลงอื่น ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ย่อมมีความจำเป็นต้องใช้ทางเพื่อเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เมื่อทางการไม่จัดทำทางเข้าออกให้ปรากฏในแผนที่อย่างชัดเจนจึงทำให้ผู้อาศัยในที่ดินที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวย่อมต้องขวนขวายหาทางเข้าออกเอง โดยยอมเสียค่าตอบแทนในการใช้ทางผ่านที่ดินของบุคคลอื่น ดังนั้น ตามคำเบิกความของโจทก์ประกอบกับหนังสือสัญญาซื้อขายและตามคำเบิกความของนายบุญมีพยานจำเลยรับฟังได้ว่า นางอ่อนตาและนายบุญเถิง ได้ตกลงทำหนังสือซื้อขายที่ดินทำทางกับนายหล่อและนายหลำหรือหำซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนจำเลย โดยยอมจ่ายค่าตอบแทน 2,000 บาท ในการเปิดทางกว้างประมาณ 8 ศอก เห็นว่า แม้ที่ดินทุกแปลงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ประชาชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น ผู้ครอบครองจึงไม่อาจนำที่ดินออกขายก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขาย ก็พอจะแปลเจตนาของคู่สัญญาได้ว่า เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินตามที่ระบุในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ นายหล่อหรือนายหลำหรือหำยินยอมให้มารดาโจทก์เดินผ่านที่ดินจากจุดเอถึงจุดบี โดยรับค่าตอบแทน 2,000 บาท สัญญาดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม ทั้งตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยต่างรับกันว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนตา ส่วนจำเลยเป็นบุตรของนายผึ้งซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ที่ดินแปลงของจำเลยมาก่อน ทั้งนายบุญมี น้องเขยของจำเลยก็ยอมรับว่า ขณะรับเงินค่าตอบแทนการใช้ทาง นายผึ้งบิดาจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองอยู่ ปัจจุบันโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของนางอ่อนตาและนายผึ้งในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่นำสืบ จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่อนุญาตให้ใช้ทาง ตามที่สัญญาไว้ต่อไป จำเลยไม่มีสิทธิที่จะทำการปิดกั้นไม่ให้โจทก์ใช้ทางพิพาท ส่วนโจทก์ซึ่งมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นตามฟ้อง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทจากจุดเอถึงจุดบีขนาดกว้าง 8 ศอก ผ่านที่ดินของจำเลย กับให้จำเลยรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางพิพาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ