แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาจากพนักงานสอบสวนในข้อหาตามฟ้องข้อ 1 ก. บางส่วนและข้อ 1 ข. ว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าว เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 พนักงานอัยการจึงต้องห้ามไม่ให้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟ้องในข้อหาดังกล่าวไว้พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง จึงไม่ชอบ ถึงแม้ประเด็นนี้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด จำคุกคนละ 4 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 15 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน รถจักรยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 5 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 14 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 400 บาท ตามฟ้องโจทก์ข้อ ก. บางส่วนและข้อ ข. หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งในสำนวนว่า พันตำรวจโทเกียรติยศ พนักงานสอบสวนในคดีนี้สอบสวนจำเลยทั้งสองเฉพาะแต่ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 1,000 บาท ตามฟ้องข้อ 1 ก. บางส่วน และข้อ 1 ค. เท่านั้น ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาจากพนักงานสอบสวนในข้อหาตามฟ้องข้อ 1 ก. บางส่วน และข้อ 1 ข. ว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวน ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนจำเลยทั้งสองในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ดดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 พนักงานอัยการจึงต้องห้ามไม่ให้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟ้องในข้อหาดังกล่าวไว้พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ถึงแม้ประเด็นนี้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นต่อไปมีตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ดดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อคือนางสุณีย์ และนางศรีวรรณ หรือไม่ เห็นว่า มีเหตุควรสงสัยได้ว่ามีเหตุการณ์การล่อซื้อยาเสพติดที่บริเวณสะพานที่โจทก์อ้างว่าเหตุเกิดได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดมาว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามที่โจทก์อ้าง ดังนี้เห็นว่าในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อพยานโจทก์มีพิรุธไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้มั่นคงว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิด ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษอย่างไร โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์จึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ