แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยร่วมกันชำระหนี้ต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งศาลชั้นต้นให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2ยื่นคำขอรับชำระหนี้ และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 แล้ว ดังนั้น หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27,91 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แม้โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้โจทก์ก็ถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามมาตรา 56 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง และให้จำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ในคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินค้าเป็นเงิน266,809 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน263,516 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยให้จำเลยที่ 3 สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซื้อขายกันเอง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 266,809 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 263,516 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 2ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2528เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งศาลชั้นต้น เพื่อให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้ก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นเจ้าหนี้ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ให้ไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2528 และต่อมาศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้แล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2529ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายหรือยกฟ้องคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงรับว่า จำเลยที่ 2 ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และต่อมาศาลชั้นต้นได้เห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายจริง ศาลชั้นต้นส่งหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่ประการใดจึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2เสียนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2528และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งศาลชั้นต้นให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2528 และต่อมาในวันที่ 10 มกราคม 2529 ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้รายที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 นี้ โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27, 91 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หนี้ดังกล่าวโจทก์อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ดีแม้โจทก์จะไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้โจทก์ก็ถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อการประนอมหนี้ผูกมัดโจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 2ชำระหนี้อีกไม่ได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งที่พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ก็มิได้แสดงหลักฐานยืนยันให้เป็นที่พอใจแก่ศาลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอน โจทก์ไม่สามารถขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ดังนั้นโจทก์จึงไม่ถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า โจทก์ได้รับสำเนาคำแถลงของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวและแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และต่อมาศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายปรากฏตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ท้ายคำแถลงของจำเลยที่ 2 จริง โดยโจทก์มิได้คัดค้านแต่ประการใด โจทก์จะแก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้”
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้จำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ