คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็นเพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้ายจำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย มีอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยานก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ได้ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215
การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 58 และให้นำโทษที่ศาลรอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี และให้บวกโทษจำคุก 1 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุก 5 ปี 1 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยโดยสารรถยนต์มินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร ต่อมาจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 บนรถ จำเลยแย่งกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ลงจากรถวิ่งหลบหนี หลังเกิดเหตุมีชาวบ้านช่วยกันจับจำเลยไว้ได้พร้อมกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารที่ตัวจำเลย และจำเลยถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมีมูลค่า 300 บาท พร้อมเงินที่บรรจุอยู่ภายใน 60 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับคืนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยโดยสารมาบนรถยนต์มินิบัสตั้งแต่ต้นทางที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต โดยมาคนเดียว ผู้เสียหายที่ 2 สังเกตเห็นจำเลยมีอาการคล้ายคนเมาสุรา เมื่อเข้าไปเก็บเงินค่าโดยสารจากจำเลยแล้วสักพักจำเลยเมาหลับไปจนรถยนต์โดยสารมินิบัสแล่นถึงปลายทาง ผู้โดยสารคนอื่นลงจากรถหมดแล้วเหลือจำเลยยังนั่งหลับอยู่เพียงคนเดียว ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลย โดยปลุกอยู่ 2 ครั้ง จำเลยไม่ยอมตื่น เมื่อปลุกครั้งที่ 3 จำเลยจึงตื่น แล้วผู้เสียหายที่ 2 เดินจะไปนั่งที่เบาะนั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยเข้ามาใช้กำปั้นทุบท้ายทอยผู้เสียหายที่ 2 เมื่อผู้เสียหายที่ 2 หันไปดูจำเลยเข้ามาทุบหลังของผู้เสียหายที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูหลัง แต่จำเลยกลับเดินย้อนกลับมาทุบหลังผู้เสียหายที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ผู้เสียหายที่ 2 สู้ไม่ได้ จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไป เมื่อพิเคราะห์จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว เห็นว่า เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับ และยังเชื่อว่าจำเลยเมาสุราอยู่ด้วยเพราะแม้แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ยังเบิกความว่าจำเลยเมาหลับบนรถ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถยนต์มินิบัสหรือไม่ จำเลยก็ตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก ในตอนนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่าพยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไป ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์ จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้ายจำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาโดยอ้างคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าจำเลยมีทีท่าเหมือนคนเมาสุรา การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นที่ว่า ขณะกระทำผิดจำเลยอยู่ในอาการเมาสุราขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบเพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและไม่ใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย มีอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยาน ก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ได้ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังของผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้ง เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น เห็นว่า การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน คดีนี้ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับ 800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 400 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

Share