คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 297
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองกับนายทองคำ หรือเหิม สุดตาซ้าย จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3982/2542 ของศาลชั้นต้น นายไพฑูรย์หรือโต เกิดทวีพันธ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2207/2543 ของศาลชั้นต้น และนายโทน หลั่นทองหลาง จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1595/2546 ของศาลชั้นต้น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูกไม่ต้องกล่าวถึงจำเลยในคดีอื่น) การกระทำของจำเลยทั้งสองกับนายทองคำ นายไพฑูรย์ และนายโทน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองกับยกฎีกาของโจทก์

Share