คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว
แม้ในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ต่อมา ว. กับจำเลยตกลงกันได้และ ว. ขอถอนฟ้องแล้วก็ตามก็เป็นเรื่องระหว่าง ว. กับจำเลยในคดีอาญาอื่น หาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่น แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่โจทก์เข้าใจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 91, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 และให้จำเลยทั้งสองร่วมโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันด้วยตัวอักษรขนาดเท่าที่จำเลยทั้งสองได้เสนอข่าว เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 และฉบับประจำวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 ลงบทความระบุชื่อและรูปพรรณของโจทก์ในคอลัมน์วิเคราะห์และเชิงอรรถฯ สถานการณ์ ตามลำดับ ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ข้อความจะไม่ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์รับสินบนจากนายอูลริค วูล์ฟกัง แต่การกล่าวถึงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยรวมแล้ว พอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์มีส่วนในการรับสินบนจากนายอูลริค วูล์ฟกัง ซึ่งเป็นการเสนอความเห็นที่ชี้นำผู้อ่านโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ปัญหาข้อนี้คู่ความไม่ได้ฎีกาจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) หรือไม่ จะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรีสนั่นและโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรีสนั่น โดยร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือนายอูลริค วูล์ฟกัง ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือนายอูลริค วูล์ฟกัง หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์ มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) แล้วพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า นายวินัย เสนเนียม เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดสงขลาในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท เหตุเกิดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับเดียวกัน คอลัมน์เดียวกับคดีของโจทก์ คดีดังกล่าวจำเลยขอขมาและยอมรับว่าทำให้นายวินัยเสียหาย คดีของโจทก์กับนายวินัยเป็นเหตุลักษณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม เท่ากับโจทก์อ้างว่าคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้ในคดีที่นายวินัยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ต่อมานายวินัยกับจำเลยตกลงกันได้และนายวินัยขอถอนฟ้องแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างนายวินัยกับจำเลยในคดีอาญาอื่น หาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่น แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่นายวินัยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่โจทก์เข้าใจ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share