แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ประกอบด้วยมาตรา 201
จำเลยจำนำสร้อยคอของตนไว้กับผู้เสียหายเพื่อเอาเงินมา เล่นการพนัน แล้วจำเลยกระชากสร้อยเส้นนั้นไปจากคอผู้เสียหาย ไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์เพราะสร้อยนั้นเป็นของจำเลยเอง และเมื่อไม่เป็นการลักทรัพย์ก็ไม่อาจเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ได้
การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วนั้นอาจเป็นผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่โจทก์ฟ้องว่าชิงทรัพย์จะลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง คดีต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักสร้อยคอของนายเอี้ยว แซ่เบ้ ผู้เสียหายไปและจำเลยร่วมกันใช้กำลังทำร้ายนายเอี้ยว แซ่เบ้ จนเป็นอันตรายแก่กาย เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์ดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ข้อเท็จจริงในคดีฟังยุติได้ว่า คืนเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกและจำเลยที่ 1 ได้ลักลอบเล่นการพนันกันที่ห้องของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นได้ จำเลยที่ 1 เล่นเสียจึงเอาสร้อยคอทองคำของตนจำนำผู้เสียหายไว้เป็นเงินทั้งสิ้น 2,000 บาท ครั้นเวลาประมาณ 23.00 นาฬิกาก็เลิกเล่นกัน พวกเล่นต่างทยอยกลับ ขณะที่ผู้เสียหายจะออกจากประตูห้อง จำเลยที่ 1 ได้พูดขอสร้อยคืนผู้เสียหายบอกให้เอาเงินมาไถ่ จำเลยที่ 1 ก็กระชากสร้อยซึ่งสวมอยู่ที่คอผู้เสียหายจนขอหลุดหาย สร้อยติดมือจำเลยที่ 1 ไปทันใดนั้นจำเลยที่ 2 ได้ใช้ไม้ท่อนตีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บผู้เสียหายวิ่งหนีไปแจ้งความตำรวจที่ป้อมยาม แจ้งว่าผู้เสียหายบุกรุกเข้าไปชิงทรัพย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 ประกอบด้วยมาตรา 201 และการที่จำเลยที่ 1 จำนำสร้อยคอของตนไว้กับผู้เสียหายนั้น ต้องถือว่าสร้อยนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อยู่ ทรัพย์นั้นเป็นเพียงเพื่อประกันการชำระหนี้เท่านั้น การที่จำเลยเอาทรัพย์ของตนเองไป จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และเมื่อไม่เป็นลักทรัพย์ก็ไม่อาจเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ได้ หากจะเป็นผิดก็เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าชิงทรัพย์ จะลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 2 คดีต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 เช่นเดียวกับที่ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงยังไม่พอชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอย่างใด ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์