คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บุคคลผู้มีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิในที่ดินตาม ป.ที่ดิน มีสิทธิเพียงได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ เท่านั้น หาได้มีสิทธิในที่ดินที่ตนครอบครองทำประโยชน์อยู่ไม่ และต้องยื่นคำร้องที่อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฯ ใช้บังคับ โดยยื่นต่อนายอำเภอภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ฯ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 9 กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตได้ ดังนั้น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีมติให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) เลขที่ 15 อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ของจำเลย โดยมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนดังกล่าวว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาอุทธรณ์และมีมติไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเกษตรกร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตจึงแจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า ที่ดินพิพาทจำเลยได้รับโอนการครอบครองมาจากนายเจริญซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2504 ต่อมาปี 2516 มีกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายเจริญยื่นคำร้องอ้างว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฯ ใช้บังคับและได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 คณะอนุกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิดตรวจสองแล้วมีความเห็นว่า ควรเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติหรือให้นายเจริญเช่าทำประโยชน์ต่อไป แต่บัดนี้ทางราชการยังไม่ได้ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว เห็นได้ว่า ตามคำให้การดังกล่าวไม่มีประเด็นว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ คงมีปัญหาแต่เพียงว่าจะต้องกันที่ดินพิพาทที่นายเจริญครอบครองอยู่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติหรือให้นายเจริญเช่าทำประโยชน์ต่อไปหรือไม่เท่านั้น เนื่องจากนายเจริญได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2504 ก่อนมีกฎกระทรวง ฯ ประกาศกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ แสดงว่านายเจริญก็ยอมรับว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่อ้างว่าตนครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนเท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บุคคลที่อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฯ ใช้บังคับ ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น คำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้นายอำเภอส่งต่อไปยังคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาตินั้นโดยไม่ชักช้า แต่ความในวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่ปรากฏว่านายเจริญมีสิทธิในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น นายเจริญจึงต้องยื่นคำร้องตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งเมื่อมีการยื่นคำร้องตามมาตรา 12 แล้ว มาตรา 13 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติได้รับคำร้องตามมาตรา 12 แล้ว ให้สอบสวนตามคำร้องนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้เสียสิทธิหรือเสื่อมเสียประโยชน์ ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามที่เห็นสมควร เห็นได้ว่า จากบทบัญญัติดังกล่าว บุคคลที่มีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ไม่มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมีสิทธิเพียงได้รับค่าทดแทนเท่านั้น หาได้มีสิทธิในที่ดินที่ตนครอบครองทำประโยชน์อยู่ไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเจริญได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ก็มิทำให้นายเจริญมีสิทธิในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังจากมีกฎกระทรวง ฯ ประกาศกำหนดป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติโจทก์จึงมีอำนาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เกษตรกรหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.4-01 ก.) เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เกษตรกรเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 ลงมติเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) ที่ออกให้แก่จำเลยได้และโจทก์ไม่อาจอาศัยอำนาจตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2536 ข้อ 9 มาออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) ของจำเลยได้เช่นกัน เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2536 ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 9 กำหนดว่า ให้เลขาธิการมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อผู้ได้รับอนุญาตสิ้นสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ตามที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 11 (3) ให้เกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจาก ส.ป.ก. ในกรณีขาดคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร…ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสาระสำคัญดังต่อไปนี้… ข. มีที่ทำกินเป็นของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกันเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพอยู่แล้วก่อนดำเนินการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ได้ความว่าจำเลยมีที่ดินอยู่แล้วก่อนได้รับคัดเลือกหลายร้อยไร่ จำเลยจึงเป็นผู้ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ขาดคุณสมบัติตามระเบียบดังกล่าวทำให้สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตของจำเลยได้ตามระเบียบดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share