คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าของเดิมครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2498 ภายหลัง ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว เจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งรับโอนการครอบครองมาย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 และต้องถือว่าที่ดินเป็นของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าที่ดินซึ่งไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ เมื่อทางราชการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปปฏิรูปที่ดินได้ และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 26 (4) โจทก์มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินได้
จำเลยมีที่ดินเป็นของตนเองกว่า 100 ไร่ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่เกษตรกรตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 4 จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) ของจำเลยได้
การที่จะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดินนั้น ที่ดินพิพาทต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐ คดีนี้เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินเป็นของรัฐแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องเวนคืนที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยไม่ใช่เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดิน แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงมาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ถูกเพิกถอนด้วยเหตุผลทางการเมือง การกระทำของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) เลขที่ 14, 31, 111 และ 183 อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไป และให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย หมายความว่า บุคคลผู้ครอบครองที่ดินและผู้รับโอนจะได้รับความคุมครองสิทธิครอบครองในที่ดินตามกฎหมายต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 2 และมาตรา 3 คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การของจำเลยว่าเจ้าของเดิมครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งเป็นภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว เจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งรับโอนการครอบครองมาย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 และต้องถือว่าที่ดินเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า ที่ดินซึ่งไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ เมื่อทางราชการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปปฏิรูปที่ดินได้ และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้นและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) โจทก์มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินได้ การคัดค้านของนายลายและนายบรรจุเจ้าของเดิมหามีผลทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยเป็นเกษตรกรหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 4 ได้ให้นิยามว่า เกษตรกร หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย จากนิยามดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรก็คือผู้ที่ประกอบอาชีพเกษรตรกรรมเป็นหลักจำพวกหนึ่ง กับบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอีกจำพวกหนึ่ง เห็นได้ว่า เงื่อนไขการเป็นเกษตรกรที่มีสิทธิจะเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง แต่จำเลยมีที่ดินเป็นของตนเองกว่า 100 ไร่ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่เกษตรกรตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 4 จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของจำเลยเสียได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์ต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเสียก่อนหรือไม่ เห็นว่า การที่จะต้องมีการดำเนินการเวนคืนที่ดินนั้น ที่ดินพิพาทต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐ คดีนี้เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินเป็นของรัฐแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องเวนคืนที่ดินพิพาทตามที่จำเลยฎีกาแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share