แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินประจำตำแหน่ง เงินค่ารับรองและเงินช่วยเหลือค่าที่พักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่เงินเดือน ทั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่ข้าราชการเงินทั้ง 3 ประเภทจึงไม่อยู่ในความหมายของเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของ รัฐบาล ตามป.วิ.พ. มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีได้ กรณีนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลกำหนดเงินจำนวนตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ต้องรับผิดในการบังคับคดีดังเช่นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286(1)(3)(4).
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา มีรายได้จากเงินประจำตำแหน่ง เงินค่ารับรอง และเงินช่วยเหลือค่าที่พักประมาณเดือนละ 20,000 บาท โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินได้ของจำเลยที่ 1 โดยให้รัฐสภาส่งเงินอายัดเดือนละ5,000 บาท มายังศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายอายัดเงินจำนวนเดือนละ 5,000 บาท ไปยังรัฐสภาให้ส่งเงินมายังศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินทั้ง 3 ประเภทที่โจทก์ร้องขออายัดได้แก่ เงินประจำตำแหน่ง เงินค่ารับรองและเงินช่วยเหลือค่าที่พักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเห็นได้โดยแจ้งชัดและเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายว่ามิใช่เงินเดือนทั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่ข้าราชการ เงินทั้ง 3 ประเภท จึงไม่อยู่ในความหมายของเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ถูกอายัดเงินดังกล่าวเป็นจำนวน 5,000 บาท แล้ว จะทำให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะลำบากขัดสนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ขออายัดเงินของจำเลยที่ 1 เพียงเดือนละ 5,000 บาท แทนที่จะขออายัดทั้งหมดตามสิทธิ ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 อยู่แล้วกรณีนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลกำหนดเงินจำนวนตามที่เห็นสมควรเพื่อมิให้ต้องรับผิดในการบังคับคดีดังเช่นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(1)(3)(4)
พิพากษายืน.