แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคแรก กำหนดระยะเวลาแก่คู่ความในการใช้สิทธิขอให้พิจารณาใหม่ไว้เป็น2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก จะต้องยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยแต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน ก็ให้นับแต่เมื่อการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้ และประการหลังหากมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนเป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดไม่อาจยื่นคำขอภายในเวลาที่กำหนดไว้ในประการแรกแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง ส่วนข้อความตอนท้ายของบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งห้ามมิให้ยื่นคำขอเมื่อพ้นกำหนด6 เดือน นับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น มีความหมายว่า ห้ามมิให้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้จะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนทำให้การยื่นคำขอต้องล่าช้าเกิน 6 เดือนก็ตาม จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ล่าช้าเกิน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับ โดยมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้แต่คำขอนั้นมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคแรก ซึ่งวรรคสองของมาตรา 208 บังคับให้ต้องกล่าวแม้เป็นชั้นตรวจคำขอ ศาลก็ชอบที่จะสั่งยกคำขอให้พิจารณาใหม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 แพ้คดี จำเลยที่ 3ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคแรก กำหนดระยะเวลาแก่คู่ความในการใช้สิทธิขอให้พิจารณาใหม่ไว้เป็น 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก จะต้องยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน ก็ให้นับแต่เมื่อการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้ และประการหลัง หากมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนเป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดไม่อาจยื่นคำขอภายในเวลาที่กำหนดไว้ในประการแรกแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้น ข้อความตอนท้ายของบทมาตราดังกล่าวที่ว่า”แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้ เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น” จึงมีความหมายว่าห้ามมิให้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้จะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนทำให้การยื่นคำขอต้องล่าช้าเกินหกเดือนก็ตาม สำหรับคดีนี้ได้มีการส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 3 โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2528 การส่งคำบังคับจึงมีผลใช้ได้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 3 จะต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 การที่จำเลยที่ 3ยังไม่ทราบคำบังคับถือได้ว่ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจยื่นคำขอภายในวันที่ 29 พฤษภาคม2528 แต่จำเลยที่ 3 ได้บรรยายในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า เพิ่งทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้และศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายเรียกเอกสารลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530 มาให้ เท่ากับบรรยายว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบคำบังคับแล้วตั้งแต่วันได้รับหมายเรียกเอกสารดังกล่าว กรณีตามคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3เป็นเรื่องการยื่นคำขอล่าช้าเกินสิบห้าวันนับแต่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ อันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจยื่นคำขอได้สิ้นสุดลงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา208 วรรคแรก ดังนั้น คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 ที่มิได้กล่าวว่า ได้รับหมายเรียกเอกสารจากเจ้าพนักงานบังคับคดีอันทำให้จำเลยที่ 3 ทราบว่า ถูกฟ้องคดีนี้และศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3แพ้คดีแล้วเมื่อใด จึงเป็นคำขอที่มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคแรก ซึ่งวรรคสองของมาตรา 208 บังคับให้ต้องกล่าว ในชั้นตรวจคำขอศาลก็ชอบที่จะสั่งยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน