คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทเงินทุนถูกกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนอันเป็นเหตุให้บริษัทจำเลยต้องเลิกไปตามกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินได้เงินสดจำนวนหนึ่ง โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2527 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2527ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลย ได้นำเงินสดของบริษัทจำเลยไปฝากไว้กับธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทจำเลยตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ขณะรับฝากเงินผู้คัดค้านที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าบริษัทจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งจะต้องถูกเพิกถอน การที่ผู้คัดค้านที่ 2 จะได้รับประโยชน์จากการฝากเงินของจำเลยหรือไม่ มิใช่ข้อสาระสำคัญ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2527 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2528 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน และมีคำสั่งตั้งให้นายเติมศักดิ์กฤษณามระ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชีเพื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2526 ผู้คัดค้านที่ 1รวบรวมทรัพย์สินได้เป็นเงินสดจำนวนมาก ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม2526 ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่รวบรวมได้ไปเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงไทยจำกัด ผู้คัดค้านที่ 2 และวันที่ 10 เมษายน2527 นำเงินไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้กับ ผู้คัดค้านที่ 2 ในนามของจำเลย ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528 มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีออมทรัพย์ เป็นเงิน 10,290,983.05 บาท และในบัญชีกระแสรายวัน1,399,773.03 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 เจ้าหนี้รายที่ 49 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดเช็คจำนวน31,158,719.98 บาท ไว้ต่อผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2528นายสุพจน์ เดชสกุลธร ผู้ค้ำประกันของจำเลยได้นำเงิน 20,000,000บาท มาชำระให้ผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยจึงยังค้างชำระผู้คัดค้านที่ 2 อยู่เพียง 11,158,719.98 บาท ครั้นวันที่ 24 ตุลาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินในบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ซึ่งเปิดไว้กับผู้คัดค้านที่ 2 หักแล้วคงมีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีทั้งสองประเภทเป็นเงิน 1,932,582.63 บาท ผู้ร้องได้แจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 2ส่งเงินในบัญชีทั้งสองประเภทจำนวน 13,091,302.61 บาท คืนกองทรัพย์สินของจำเลย แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ส่งเงินให้ผู้ร้องเพียง1,932,582.63 บาท การนำเงินของจำเลยไปฝากไว้กับผู้คัดค้านที่ 2 ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ของผู้คัดค้านที่ 2 อาจทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ขอหักกลบลบหนี้ได้อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ทั้งปวงเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยผู้คัดค้านที่ 2 รับฝากเงินดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลเพิกถอนการฝากเงินดังกล่าวให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากกลับคืนไม่ได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสองชำระเงิน 13,091,302.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ในระหว่างชำระบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยได้เงินสดจำนวนหนึ่งจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มพูนดอกผลกับเพื่อสะดวกในการดำเนินงานของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการกระทำโดยสุจริต ครั้นวันที่ 19 มิถุนายน2528 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ส่งมอบเอกสารตลอดจนทรัพย์สินของจำเลยให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งได้รับแจ้งจากผู้คัดค้านที่ 2เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528 เรื่องหักกลบลบหนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อผู้ร้องเพราะผู้คัดค้านที่ 1 หมดหน้าที่ในการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเพิกถอนการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินคืน ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับฝากเงินดังกล่าวไว้ตามทางการค้าของธนาคารพาณิชย์โดยสุจริต และมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน การขอหักกลบลบหนี้ของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการนำเงินเข้าฝากในบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 002-1-03371-4 และในบัญชีกระแสรายวันเลขที่022-6-15768-3 ระหว่างนายเติมศักดิ์ กฤษณามระ กับธนาคารกรุงไทยจำกัด และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ใช้เงินจำนวน 11,158,719.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2528เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นบริษัทเงินทุน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2526 จำเลยถูกกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนอันเป็นเหตุให้บริษัทจำเลยต้องเลิกไปตามกฎหมาย กระทรวงการคลังมีคำสั่งในวันเดียวกันตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินได้เงินสดจำนวนหนึ่ง วันที่ 29 ธันวาคม 2526และวันที่ 10 เมษายน 2527 ผู้คัดค้านที่ 1 ขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ตามลำดับ นำเงินของจำเลยเข้าฝากไว้ในธนาคารของผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสามยอด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527 โจทก์ได้ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2528 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดเช็คจำนวน 31,158,719.98บาท ไว้ต่อผู้ร้อง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2528 ผู้ค้ำประกันของจำเลยได้นำเงิน 20,000,000 บาท ชำระให้ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเหลือหนี้ที่จำเลยยังค้างชำระผู้คัดค้านที่ 2 อยู่อีก 11,158,719.98 บาทวันที่ 18 ตุลาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 2 ใช้สิทธิหักกลลบหนี้ในบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองประเภทดังกล่าวที่มีอยู่ในธนาคารของผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสามยอด ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้มีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับหนังสือทวงหนี้ดังกล่าวก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะขอเปิดบัญชีเงินฝากทั้งสองประเภทไว้กับธนาคาร ผู้คัดค้านที่ 2 แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าจำเลยอยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 2 จะรับฝากเงินทั้งสองบัญชี คดีฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 รับฝากเงินไว้โดยสุจริต ข้อวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 2 มีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้น จะเป็นเหตุหรือข้อสันนิษฐานอันให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวยังไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1253(1) เพื่อแจ้งยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระผู้คัดค้านที่ 2 หาได้แปลความไปถึงว่าได้ทราบถึงว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 1253(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีบอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชีทางพิจารณาปรากฏว่า กระทรวงการคลังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนของบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม2526 เนื่องจากบริษัทจำเลยมีฐานะและการดำเนินงานเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน ประกาศดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันเดียวกัน และได้มีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชีในวันเดียวกันด้วยผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้รับฝากเงินของบริษัทจำเลย ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมจะทราบถึงฐานะทางการเงินของจำเลยได้เป็นอย่างดีและการที่ผู้คัดค้านที่ 1ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยนำเงินไปฝากแก่ผู้คัดค้านที่ 2ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมจะต้องทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วจึงมีการตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท ฎีกาผู้คัดค้านที่ 2ที่ว่าไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า การรับฝากเงินของผู้คัดค้านที่ 2 จากผู้คัดค้านที่ 1 จะถือว่าเป็นผู้รับโอนหรือรับประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 ยังสามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ก่อนที่บริษัทจำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทั้งการรับฝากเงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 มิได้รับประโยชน์จากการรับฝากกลับต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลย ได้นำทรัพย์สินของบริษัทจำเลยคือเงินสดฝากไว้กับธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ถือเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทจำเลยตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว ขณะรับฝากเงินผู้คัดค้านที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าบริษัทจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวการกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่าการรับฝากเงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2มิได้รับประโยชน์ กลับต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจำเลยนั้นศาลฎีกา เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับฝากเงินไว้จากผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่สุจริต ซึ่งจะต้องถูกเพิกถอนแล้วการที่ผู้คัดค้านที่ 2 จะได้รับประโยชน์จากการฝากเงินของจำเลยหรือไม่ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหานี้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share