คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน2515 ข้อ 23 วรรคท้าย ประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ที่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ ซื้อขายในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาของที่ดินแต่ละแปลงที่อ้างซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงแต่ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเพียงราคาปานกลางของที่ดินในแต่ละเขตท้องที่ ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงในท้องที่เดียวกันและตามบัญชีดังกล่าวกำหนดไว้เป็นราคาเดียวกัน อาจมีราคาแตกต่างกันตามสภาพของที่ดินแต่ละแปลง และสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนปรากฏว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เพียงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ดินที่ใช้สร้างโรงภาพยนตร์ มีทางเข้าออกเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมีลานจอดรถและอาคารพาณิชย์โดยรอบ เชื่อได้ว่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมีราคาธรรมดาที่อาจซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงสูงกว่าราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เครื่องปรับอากาศของโจทก์เป็นเครื่องปรับอากาศใช้สำหรับโรงภาพยนตร์เชื่อได้ว่าเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ การติดตั้งและรื้อถอนต้องเสียค่าแรงงานและอาจเกิดความเสียหายได้ จำเลยต้องใช้เงินค่าทดแทน เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ของโจทก์มีลักษณะที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ และได้ติดตั้งยึดไว้กับพื้นของโรงภาพยนตร์ ซึ่งตามปกติโรงภาพยนตร์ต้องมีเก้าอี้เพื่อ ให้ผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์ การรื้อถอนเก้าอี้ออกไปจะทำให้โรงภาพยนตร์เสียสภาพจากการเป็นโรงภาพยนตร์ถือได้ว่าเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ และรัฐมนตรีได้รับประกาศให้ทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว แม้จะยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้โจทก์และเมื่อนำข้อ 67 วรรคสองแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 วรรคสอง แล้วมีความหมายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 12532 รวมเนื้อที่ประมาณ 295 ตารางวา พร้อมอาคารโรงภาพยนตร์บางมดรามาถูกเวนคืน จำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์รวมเป็นเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่กำหนดให้ทั้งสิ้น 8,213,011.32 บาทโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยกำหนดให้ดังกล่าวแล้ว แต่เงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับดังกล่าวยังไม่เป็นธรรม โดยที่ดินของโจทก์ราคาตารางวาละ 2,600 บาทรม 295 ตารางวา เป็นเงิน 767,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้อีก 400,000 บาท ส่วนเงินค่าทดแทนโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์ควรกำหนดให้ดังนี้คือ ตัวอาคารโรงภาพยนตร์ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ดินถมและรั้วสังกะสี 11,438,706 บาทตึกชั้นเดียวพร้อมถังน้ำ 144,233.79 บาท ป้ายโฆษณาภาพยนตร์88,749.26 บาท อุปกรณ์งานระบบไฟฟ้าโรงภาพยนตร์ 444,683 บาทเครื่องปรับอากาศโรงภาพยนตร์ 354,401.50 บาท เก้าอี้สำหรับนั่งชมภาพยนตร์ 159,600 บาท เครื่องฉายภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์366,670 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 12,997,043.55 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์เพิ่มอีก4,784,032.23 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินสิ่งปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์ให้โจทก์อีกเป็นเงินรวม5,184,032.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน1,555,209.67 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 5,184,032.23 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแล้วเพราะได้กำหนดให้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปรองดองซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดอนุมัติตามหลักเกณฑ์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินที่เพิ่มนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เพราะในขณะนั้นยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันจะก่อสิทธิให้แก่โจทก์ที่ได้รับเงินค่าทดแทน ทั้งในขณะที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับ และจำเลยมิใช่ผู้ผิดนัด ถ้าหากโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะต้องมิใช่ก่อนวันที่โจทก์จะได้รับคำเสนอราคาค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยอันเป็นวันที่เกิดการโต้แย้งสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นเงิน 559,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไป โดยคิดให้ถึงวันฟ้องไม่เกิน 4 ปี และให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราและต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทน259,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 4 ปี ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรก ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 วรรคท้ายประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 ข้อ 76 ที่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดนั้น หมายถึง ราคาธรรมดาของที่ดินแต่ละแปลงที่อ้างซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริง แต่ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเพียงราคาปานกลางของที่ดินในแต่ละเขตท้องที่ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงในท้องที่เดียวกันและตามบัญชีดังกล่าวกำหนดไว้เป็นราคาเดียวกัน อาจมีราคาแตกต่างกันตามสภาพของที่ดินแต่ละแปลง และสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เพียงประมาณ 15 เมตรเป็นที่ดินที่ใช้สร้างโรงภาพยนตร์มีทางเข้าออกเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลานจอดรถและอาคารพาณิชย์โดยรอบเชื่อได้ว่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมีราคาธรรมดาที่อาจซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงสูงกว่าราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไว้ตารางวาละ 2,600 บาท รวม 295 ตารางวา เป็นเงิน 767,000 บาท จึงให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีก 400,000 บาท เช่นนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ประมาณราคาเครื่องปรับอากาศของโจทก์ไว้เป็นเงิน 503,990 บาท และได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 75,598.50 บาท เป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์เป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า เครื่องปรับอากาศของโจทก์เป็นเครื่องปรับอากาศใช้สำหรับโรงภาพยนตร์เชื่อได้ว่าเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ การติดตั้งและรื้อถอนต้องเสียค่าแรงงานและอาจเกิดความเสียหายได้ เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้ต่ำเกินไป ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยที่ได้ความตรงกันด้วยว่า เครื่องปรับอากาศของโจทก์ต้องใช้ท่อเป็นส่วนประกอบ แต่จำเลยไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ให้โจทก์ได้ความว่าท่อที่ใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศดังกล่าวต้องรื้อทิ้งทั้งหมดจึงเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีก 100,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สาม ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ เพราะไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น เห็นว่า เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ของโจทก์มีลักษณะที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะและได้ติดตั้งยึดไว้กับพื้นของโรงภาพยนตร์ ซึ่งตามปกติโรงภาพยนตร์ต้องมีเก้าอี้เพื่อให้ผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์ การรื้อถอนเก้าอี้ออกไปจะทำให้โรงภาพยนตร์เสียสภาพจากการเป็นโรงภาพยนตร์ถือได้ว่าเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์และเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนในส่วนนี้ให้โจทก์ 159,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่สี่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินใช้บังคับ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับนั้นเห็นว่า จากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน 2515 ข้อ 25 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างหรือขยายโดยเร่งด่วนแล้วให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรือ กทพ.มีอำนาจครอบครองใช้ รื้อถอนอสังหาริมทรัพย์สร้างหรือขยายทางพิเศษนั้นได้ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ได้เข้าครอบครองหรือรื้อถอนอสังหาริมทรัพย์แก่เจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์นั้น” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ และรัฐมนตรีได้ประกาศให้ทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว แม้จะยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้โจทก์ และเมื่อนำข้อ 67 วรรคสองแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ที่บัญญัติว่า “ฯลฯ ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ” มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 วรรคสองแล้ว มีความหมายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share