แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยฝ่ายเดียวเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและได้ร้องขอถอนฟ้อง อุทธรณ์นั้นในระหว่างการพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจำต้องจัดการส่งสำเนาคำร้องขอถอนฟ้อง อุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง และศาลอุทธรณ์ต้องสั่งคำร้องนั้นก่อนมีคำพิพากษา การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขอถอนอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์ยังมิได้สั่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขอถอนฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยแล้วส่งศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียนพ.บ. 80-0983 โดยเช่าซื้อมาจากบริษัท เพชรบุรี มอเตอร์ จำกัดส่วนจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.ช.80-0673 และเป็นนายจ้างของนายมานพ สิงห์ทองด้วย โดยเมื่อวันที่29 เมษายน 2524 เวลา 17 นาฬิกา นายอุดม โยธา ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ. 80-0983 ไปตามถนนพุแค-หล่มสัก มุ่งหน้าไปทางพุแค จังหวัดสระบุรี เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 19-20 ตำบลช่องสาลิกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายมานพ สิงห์ทองได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.ช. 80-0673 ไปในทางการที่จ้างของจำเลย มุ่งหน้าไปทางอำเภอหล่มสัก ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยนายมานพ สิงห์ทอง ได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และแซงขึ้นหน้ารถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งทำให้รถยนต์ที่นายมานพ สิงห์ทอง ขับล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของนายอุดม โยธา และเสียการทรงตัว เพราะฝนตกถนนลื่น ในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายอุดม โยธา ขับมาพุ่งชนท้ายรถด้านซ้ายของรถยนต์จำเลย เป็นผลให้นายอุดม โยธา และบุคคลซึ่งนั่งโดยสารมาถึงแก่ความตาย และนายมานพ สิงห์ทอง หลบหนีไป รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายสิ้นค่าซ่อมไปเป็นเงิน 98,000 บาท ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์อีก 60 วัน วันละ 500 บาท เป็นเงิน 30,000 บาท จำเลยในฐานะนายจ้างของนายมานพ สิงห์ทอง จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,500 บาท ขอให้พิพากษาและบังคับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 108,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 101,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ. 80-0983 เพราะได้ขายให้นายทองเติมตระกูลทุม ไปก่อนเกิดเหตุโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์และนายทองเติมตระกูลทุม เป็นหุ้นส่วนค้าปุ๋ยคอกด้วยกัน โดยว่าจ้างนายอุดม โยธาเป็นพนักงานขับรถ โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำของนายอุดม โยธาเหตุละเมิดเกิดจากความผิดของนายอุดม โยธา ซึ่งขับรถยนต์มาชนรถของจำเลยที่จอดอยู่ กล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุได้มีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นขึ้นมาบนถนนด้านซ้ายใกล้รถที่นายมานพ สิงห์ทอง ขับ นายมานพสิงห์ทอง จึงหักหลบไปทางด้านขวา แต่ขณะเกิดเหตุฝนตกถนนลื่นจึงทำให้รถยนต์ที่นายมานพ สิงห์ทอง ขับลื่นไถลไปข้างทางด้านขวา และหยุดสนิทในลักษณะท้ายโด่งอยู่ในเขตไหล่ถนนแต่ไม่ล่วงล้ำกีดขวางทางจราจรบนถนน นายมานพ สิงห์ทอง ได้ลงจากรถยนต์เพื่อจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในทันใดนั้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ. 80-0983 แล่นมาด้วยความเร็วสูง ส่ายไปมาและพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของจำเลยอย่างแรงทำให้รถยนต์ของจำเลยได้รับความเสียหายเสียค่าซ่อมไปจำนวน 46,300บาท และขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์อีก 150 วัน วันละ 500 บาท เป็นเงิน 75,000 บาท โจทก์ในฐานะนายจ้างของนายอุดม โยธา ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันซ่อมรถยนต์ของจำเลยเสร็จจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,306.87 บาทกับค่าเสื่อมราคาอีก 20,000 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวน 146,606.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 141,300 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายมานพ สิงห์ทอง ลูกจ้างของจำเลยและนายอุดม โยธา ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ และประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายจึงเป็นพับ พิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า รถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน146,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายประมาท และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคำร้องนี้จึงเป็นการไม่ชอบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเรื่องคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 3สิงหาคม 2527 แล้ว จำเลยฝ่ายเดียวได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2527 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยสำเนาให้โจทก์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6ธันวาคม 2527 ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 ตัวจำเลยเองได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์โดยอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป จึงขอถอนฟ้องอุทธรณ์เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “สำเนาให้โจทก์ จะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำแถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน ให้จำเลยนำส่งสำเนาให้โจทก์ภายใน 5 วันนับแต่วันนี้” ระหว่างที่ยังส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ไม่ได้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2529 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยฝ่ายเดียวเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและได้ร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์นั้นในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจำต้องจัดการส่งสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วส่งคำร้องนั้นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง และศาลอุทธรณ์จำต้องสั่งคำร้องนั้นก่อนมีคำพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขอถอนอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์ยังมิได้สั่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับการส่งสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย แล้วส่งศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ