คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4524/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ผู้ที่ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
การที่จำเลยบอกข้อมูลว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษมาจาก ต. อายุประมาณ 45 ปี รูปร่างอ้วน ให้แก่ ว. ภริยาจำเลย พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ของ ต. โดยแจ้งให้ ว. นำข้อมูลไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับได้ความจาก ว. ว่ารับข้อมูลจากจำเลยว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้หญิงชื่อ ต. มีภูมิลำเนาอยู่แถวพระราม 2 จะส่งยาเสพติดให้โทษที่ตลาดรังสิต จึงนำข้อมูลไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละชุดกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลย พันตำรวจตรี ป. ได้รับข้อมูลเบื้องต้นของ ต. แล้วจึงสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวางแผนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จำเลยให้ข้อมูลของ ต. โดยไม่มีรายละเอียดหรือลักษณะรูปพรรณของ ต.ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยอ้างว่าบอกข้อมูลให้ ว. ขณะจำเลยต้องขังในเรือนจำ แต่กลับปรากฏในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าว เมื่อการจับกุม ต. ได้โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากข้อมูลของจำเลยซึ่งให้ข้อมูลที่อ้างอย่างคร่าว ๆ จึงไม่เชื่อว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่ ว. ไปแจ้งต่อพันตำรวจตรี ป. ให้ไปจับกุม ต. จริง ทั้งพันตำรวจตรี ป. มิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 100/2 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยแจ้งข้อมูลผ่าน ว. ให้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับข้อมูลของ ต. ผู้เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยจนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15, 18, 24 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100/2 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15, 18 (4), 24 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 375,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ที่ถูก โดยไม่มีเหตุสมควร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยฝ่าฝืนข้อกำหนด) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 187,500 บาท ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 12 เดือน และปรับ 187,500 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน และอาวุธปืนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เพราะภริยาจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเพียงว่า ก่อนจำเลยถูกจับกุม จำเลยเคยซื้อยาเสพติดให้โทษมาจากนางตุ๋ม อายุประมาณ 45 ปี รูปร่างอ้วน จำเลยจึงบอกข้อมูลดังกล่าวแก่นางสาววัลภา ภริยาจำเลย พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ของนางตุ๋ม โดยแจ้งให้นางสาววัลภานำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับได้ความจากนางสาววัลภาว่า ตนรับข้อมูลจากจำเลยว่า เคยซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้หญิงชื่อ ตุ๋ม มีภูมิลำเนาอยู่แถวพระราม 2 จะส่งยาเสพติดให้โทษให้ที่ตลาดรังสิต จึงนำข้อมูลไปแจ้งต่อชุดจับกุมและผู้กองหวีด และไปแจ้งข้อมูลต่อพันตำรวจตรีประทีป เจ้าพนักงานตำรวจคนละชุดกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลย เห็นว่า จำเลยให้ข้อมูลของนางตุ๋มโดยไม่มีรายละเอียดหรือลักษณะรูปพรรณของนางตุ๋มเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยอ้างว่าบอกข้อมูลให้นางสาววัลภาในเดือนมกราคม 2557 ขณะจำเลยต้องขังในเรือนจำ แต่กลับปรากฏในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้แต่อย่างใด นับว่ามีข้อพิรุธ ทั้งตามข้อมูลที่จำเลยแจ้งต่อนางสาววัลภาไม่ได้ระบุว่านางตุ๋ม มีภูมิลำเนาอยู่แถวถนนพระราม 2 แต่ได้ความจากนางสาววัลภากับพันตำรวจตรีประทีป เจ้าพนักงานตำรวจผู้รับแจ้งข้อมูลจากนางสาววัลภาว่านางตุ๋มมีภูมิลำเนาอยู่ถนนพระราม 2 ดาวคะนอง ทั้งที่จำเลยมิได้ให้ข้อมูลส่วนนี้แก่นางสาววัลภาแต่อย่างใด แต่ตามบันทึกข้อความที่ดาบตำรวจศุภชัย เป็นผู้จัดทำ กลับระบุรายละเอียดของนางตุ๋มหรือนางสาวนาตยา และรายละเอียดต่างๆ ไว้ โดยได้ความจาก พันตำรวจตรีประทีป ว่า เมื่อได้รับข้อมูลเบื้องต้นของนางตุ๋มจากนางสาววัลภา พยานไม่ได้วางแผนจับกุมทันที แต่ให้ดาบตำรวจศุภชัยสืบสวนหาข้อมูลของนางตุ๋มเพิ่มเติมก่อนวางแผนจับกุม โดยจำเลยมิได้นำดาบตำรวจศุภชัยมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เป็นผู้สืบสวนหรือรับข้อมูลดังกล่าวมาจากผู้ใดที่ทำให้ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงของนางตุ๋ม ทั้งได้ความจากพันตำรวจตรีประทีป ว่าได้ข้อมูลจากนางสาววัลภาเกี่ยวกับหมายเลขโทรศัพท์ของนางตุ๋มว่า ในการสั่งซื้อยาเสพติดให้โทษต้องแจ้งว่าเป็นเพื่อนของจำเลย นางตุ๋มจึงจะขายยาเสพติดให้โทษให้ แต่ในการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนกลับให้สายลับล่อซื้อจากนางตุ๋ม และจับกุมนางตุ๋มได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนมากโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากข้อมูลของจำเลยซึ่งให้ข้อมูลที่อ้างอย่างคร่าวๆ แต่ต่อมากลับมีรายละเอียดของนางตุ๋มโดยละเอียด โดยมิได้มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ทั้งมิได้มีหลักฐานของผู้บังคับบัญชาของพันตำรวจตรีประทีป ที่รับรายงานข้อมูลที่อ้างว่าได้จากจำเลยมาสนับสนุนด้วย กรณีไม่เชื่อว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่นางสาววัลภาไปแจ้งต่อพันตำรวจตรีประทีป ให้ไปจับกุมนางตุ๋มจริง ทั้งพันตำรวจตรีประทีป ผู้จับกุมนางตุ๋มมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 100/2 ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ภายหลังจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำ จำเลยแจ้งข้อมูลผ่านนางสาววัลภาให้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับข้อมูลของนางตุ๋ม ผู้เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย จนจับกุมนางตุ๋มได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด เป็นของกลาง ตามสำเนาบันทึกการจับกุมเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 30 ที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ปรับบทความผิดจำเลยประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุกจำเลย 20 ปี และปรับ 500,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุก 10 ปี และปรับ 250,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเป็นจำคุก 11 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share