คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยยกเลิกข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แล้วนำระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ระเบียบดังกล่าวฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 มาใช้บังคับแก่โจทก์ เป็นผลให้โจทก์ได้รับบำเหน็จเป็นจำนวนเงินที่ลดลงกว่าข้อบังคับเดิมเมื่อโจทก์ต้องออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในปี 2567 ขอให้ยกเลิก เพิกถอนระเบียบทั้งสามฉบับนั้นไม่ให้มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าวเมื่อออกจากกองทุนหรือออกจากงานตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของกองทุน ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังไม่ได้ออกจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานและไม่ได้ครบอายุเกษียณหรือออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยเหตุอื่นที่จะทำให้เกิดสิทธิในการได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าว และก่อนที่จะถึงวันที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนนั้นไม่ว่าเพราะเหตุเกษียณอายุในปี 2567 หรือเพราะเหตุอื่น จำเลยก็อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบอีกก็ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ที่ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2546 ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 ที่ประกาศ ณ วันที่ 2 มีนาคม 2548 และระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 ที่ประกาศ ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2548 เป็นโมฆะ และยกเลิกหรือเพิกถอนระเบียบทั้งสามฉบับนั้นเสีย ไม่ให้มีผลใช้บังคับต่อโจทก์ ให้จำเลยใช้ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แก่โจทก์และหรือลูกจ้างจำเลยที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 (ในขณะที่จำเลยยังเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานที่มีข้อบังคับตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 เป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการ และเป็นกรรมการกลั่นกรองงานกิจการสัมพันธ์ส่วนกลางตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เดิมจำเลยเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมกับโครงการแปรสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การโอนผู้ปฏิบัติงานไปสังกัดบริษัทที่จัดตั้งใหม่ให้ผู้โอนไปได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม และให้นับอายุงานต่อเนื่องตามที่กำหนดในกฎหมายยกเลิกพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2479 ตามหนังสือของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 ธันวาคม 2542 พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ วันที่ 8 เมษายน 2543 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีผลบังคับใช้ วันที่ 23 กรกฎาคม 2545 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แปลงสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดใช้ชื่อว่าบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือรับรอง มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วันที่ 11 สิงหาคม 2546 จำเลยยกเลิกข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 ที่มีเกณฑ์คำนวณบำเหน็จโดยนำเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน (นับตั้งแต่วันที่ได้รับบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นพนักงานถึงวันสุดท้ายที่ออกจากงาน) แล้วใช้ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ซึ่งมีเกณฑ์คำนวณบำเหน็จให้ใช้ค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน (นับตั้งแต่วันที่ได้รับบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ถึงวันสุดท้ายที่ออกจากงานหรือออกจากกองทุนที่จำเลยจัดให้มีขึ้นสำหรับจ่ายสงเคราะห์บำเหน็จให้แก่พนักงานเมื่อออกจากงานหรือออกจากกองทุนไปเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จำเลยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งให้จำเลยนำระเบียบกองทุนบำเหน็จเดิม (หมายถึงข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529) มาใช้ตามหนังสือที่ สรท. 48/1017 วันที่ 26 สิงหาคม 2548 จำเลยแก้ไขระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ตามระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 โดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีผลให้เกณฑ์การคำนวณบำเหน็จของพนักงานเปลี่ยนไป โดยกรณีของโจทก์ถ้าโจทก์ทำงานกับจำเลยจนครบเกษียณอายุ หากใช้ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 โจทก์จะได้รับบำเหน็จเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่จะใช้ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 และระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 กับโจทก์ ขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ออกจากงานและยังไม่ออกจากกองทุน โจทก์ครบกำหนดเกษียณอายุในปี 2567 โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ก่อน คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร
มีปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยยกเลิกข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แล้วนำระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 และระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 มาใช้บังคับกับลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์จะเป็นผลให้โจทก์ได้รับบำเหน็จเป็นจำนวนเงินลดลงกว่าการใช้ข้อบังคับเดิมเมื่อโจทก์ต้องออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในปี 2567 โดยโจทก์ขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนระเบียบฉบับใหม่ทั้งสามฉบับ ไม่ให้มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ข้อบังคับฉบับเดิมคือข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แก่โจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้จะเห็นได้ว่า โจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าวเมื่อออกจากกองทุนหรือออกจากงานตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของกองทุน เช่น อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรืออยู่ระหว่างต้องหา หรือถูกฟ้องคดีอาญาในมูลคดีเดียวกันกับที่ถูกสอบสวนทางวินัย ให้รอการจ่ายบำเหน็จไว้ก่อนจนกว่าผลการสอบสวนทางวินัยหรือคดีถึงที่สุด หากปรากฏว่ามีความผิดต้องรับโทษถึงขั้นไล่ออก ปลดออก หรือถูกเลิกจ้าง เพราะมีความผิดโดยเทียบโทษทางวินัยสถานไล่ออก ปลดออก หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือหนักกว่าจำคุก ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท มีคำสั่งให้ออกหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด หรือมีความผิดโดยเทียบโทษทางวินัยสถานให้ออก ทั้งนี้ ให้รอการจ่ายบำเหน็จไว้ก่อนจนกว่าจะหมดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือจนกว่าผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จะเสร็จสิ้น เว้นแต่การให้ออกในกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เป็นต้น เมื่อได้ความว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้ออกจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานและไม่ได้ครบอายุเกษียณหรือออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยเหตุอื่นใดที่จะทำให้เกิดสิทธิในการได้รับบำเหน็จจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน และก่อนที่จะถึงวันที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานไม่ว่าเพราะเหตุเกษียณอายุในปี 2567 หรือเพราะเหตุอื่นใด จำเลยก็อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบจนทำให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับข้อบังคับเดิมหรือมากกว่าข้อบังคับเดิมก็ได้ การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยนำข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 ฉบับเดิมมาใช้กับโจทก์และลูกจ้างอื่นของจำเลย โดยที่ยังไม่ปรากฏว่าโจทก์กับลูกจ้างอื่นของจำเลยนั้นเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แม้เหตุดังกล่าวนี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวถึงหรือยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกเหตุนั้นขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share