คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13421/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลแรงงานภาค 2 จะไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ แต่เมื่อคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุเลิกจ้างรวมถึงเหตุที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในหน้าที่อย่างร้ายแรงด้วยซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และคำให้การของจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นหัวหน้าชุดขนเงินแต่ไม่ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของถุงใส่เงิน ปล่อยให้บุคคลภายนอกโดยสารมาด้วยและมีพฤติการณ์ส่อว่าร่วมมือกับลูกจ้างอื่นเอาเงินสดในถุงใส่เงินของจำเลยไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) (2) และ (3) โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ดังนี้เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำให้การแล้วคดียังต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) หรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาคดีโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 2 ฟังมาเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ จึงวินิจฉัยประเด็นนี้ให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยอีก เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่ควบคุมการขนส่งเงินจากศูนย์บ้านบึงไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โดยโจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดและมีพนักงานอื่นในทีมอีก 2 คน คือ พนักงานขับรถและพนักงานคุ้มกัน สภาพการทำงานพนักงานในชุดจะต้องดำเนินการตรวจเช็คถุงใส่เงินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และตรวจสอบหมายเลขที่ซีลปิดถุงใส่เงินให้ถูกต้อง แล้วลำเลียงขนถุงใส่เงินขึ้นรถเพื่อขนส่งไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อคุ้มครองดูแลเงินในครอบครองให้ถึงที่หมายปลายทางด้วยความปลอดภัย โจทก์ปล่อยให้พนักงานขับรถตรวจสอบถุงเงินเอง ส่วนโจทก์ให้พนักงานคุ้มกันอ่านหมายเลขซีลปิดถุงให้ฟังเท่านั้น และโจทก์ปล่อยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พนักงานในชุดขนเงินร่วมเดินทางไปด้วย ในที่สุดตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดพบว่าบุคคลอื่นที่ร่วมเดินทางมาด้วยขณะทำหน้าที่เป็นพนักงานปิดซีลปากถุงใส่เงินได้เปิดช่องโหว่ปากถุงไว้ 1 ช่อง ขนาดใหญ่พอที่จะสามารถล้วงเอาเงินในถุงออกไปได้โดยไม่ได้ใช้เหล็กร้อยปิดปากถุงไปทั้งหมด การที่เงินในถุงใส่เงินที่อยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ได้หายไปจึงเกิดจากโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่และไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาความปลอดภัยในทรัพย์ที่อยู่ภายใต้ความดูแลตามหน้าที่ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 96,712.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,447.50 บาท กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 96,712.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 96,712.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,447.50 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 96,712.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบกิจการรับขนส่งเงิน โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งหัวหน้าชุด และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความที่รับกันว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 จำเลยมอบหมายให้โจทก์เป็นหัวหน้าชุดขนเงินสดร่วมกับนายประชา พนักงานขับรถ และนายภูมินทร์ พนักงานคุ้มกัน โดยให้ขนเงินซึ่งบรรจุใส่ถุงจากศูนย์บ้านบึงไปยังศูนย์โรงโป๊ะ ขณะอยู่ที่ศูนย์บ้านบึง นายประมวล ลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่ปิดปากถุงใส่เงิน และร่วมเดินทางมากับรถขนเงิน เมื่อถึงศูนย์โรงโป๊ะตรวจพบว่าเงินในถุงใส่เงินใบหนึ่งขาดหายไป 128,000 บาท แล้ววินิจฉัยว่า ไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ร่วมกับนายประมวลและนายภูมินทร์ลักเอาเงินที่หายไปจากถุงใส่เงิน การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบนายประมวลใช้เหล็กร้อยล็อกถุงใส่เงินแต่เปิดปากถุงเป็นช่องโหว่ไว้ 1 ช่อง สำหรับล้วงเอาเงินไป แต่ตรวจสอบถุงใส่เงินด้วยสายตาไม่มีสิ่งใดผิดปกติ โจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับการปิดผนึกถุงใส่เงิน เมื่อนายประชาพนักงานขับรถเป็นผู้รับถุงใส่เงินนำไปตรวจเช็ค และนายภูมินทร์พนักงานคุ้มกันอ่านหมายเลขซีลถุงใส่เงินให้โจทก์ฟังครบทุกถุง นายประชาส่งถุงใส่เงินให้แก่นายภูมินทร์ และนายภูมินทร์เป็นผู้เรียงถุงใส่เงิน แสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลทรัพย์สินของจำเลยตามปกติวิสัย การที่เงินในถุงหายไปไม่ใช่ข้อบกพร่องของโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไม่ครบตามคำฟ้องและคำให้การ โดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้ ข้อ 1. โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ข้อ 2. โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ ข้อ 3. โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด ข้อ 4. จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในหน้าที่อย่างร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์แนบสำเนาหนังสือเลิกจ้างมาท้ายฟ้องระบุเหตุเลิกจ้างว่าเงินหายระหว่างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดโดยบกพร่อง เป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เงินสดที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าชุดได้รับมอบหมายให้ขนส่งหายไปเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของถุงใส่เงินและยอมให้บุคคลภายนอกชุดขนส่งเงินโดยสารมากับรถขนเงิน และโจทก์มีพฤติการณ์ส่อแสดงว่าร่วมมือกับลูกจ้างอื่นของจำเลยลักเอาเงินสดที่หายไป อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาแก่จำเลย และจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) (2) และ (3) จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ดังนี้เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำให้การแล้วคดียังต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) ด้วย ซึ่งตามมาตรา 119 (3) บัญญัติให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงยังมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ แต่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาคดีโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 2 ฟังมาเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ จึงวินิจฉัยประเด็นนี้ให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยอีก เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่ควบคุมการขนส่งเงินจากศูนย์บ้านบึงไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โดยโจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดและมีพนักงานอื่นในทีมอีก 2 คน คือ นายประชา พนักงานขับรถ และนายภูมินทร์ พนักงานคุ้มกัน สภาพการทำงานพนักงานในชุดจะต้องดำเนินการตรวจเช็คถุงใส่เงินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และตรวจสอบหมายเลขที่ซีลปิดถุงใส่เงินให้ถูกต้อง แล้วลำเลียงขนถุงใส่เงินขึ้นรถเพื่อขนส่งไปยังศูนย์โรงโป๊ะ โดยเฉพาะโจทก์ในฐานะหัวหน้าชุดย่อมมีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อคุ้มครองดูแลเงินในครอบครองให้ถึงที่หมายปลายทางด้วยความปลอดภัย เมื่อปรากฏว่าถุงใส่เงินใบหนึ่งที่อยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์และพนักงานในชุดขนเงินนั้น ปากถุงมีช่องโหว่ 1 ช่อง โดยมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถล้วงเอาเงินที่อยู่ในถุงออกไปได้ ซึ่งตรวจสอบภายหลังพบว่าเงินในถุงดังกล่าวหายไป 128,000 บาท โจทก์ในฐานะหัวหน้าชุดกลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบความเรียบร้อยของถุงใส่เงินดังกล่าว โดยโจทก์ปล่อยให้นายประชาพนักงานขับรถตรวจสอบถุงเงิน และโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงให้นายภูมินทร์พนักงานคุ้มกันอ่านหมายเลขซีลปิดถุงให้ฟังเท่านั้น นอกจากนี้ระหว่างควบคุมขนส่งถุงใส่เงินปรากฏว่าโจทก์ปล่อยให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่พนักงานในชุดขนเงินร่วมเดินทางไปด้วย และในที่สุดตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดพบว่านายประมวล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกชุดขนเงิน ที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานปิดซีลปากถุงใส่เงิน ได้เปิดช่องโหว่ปากถุงไว้ 1 ช่อง โดยไม่ได้ใช้เหล็กร้อยปิดปากถุงไปทั้งหมด และนายประมวลร่วมเดินทางมากับรถขนเงิน การที่เงินในถุงใส่เงินที่อยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ได้หายไปจึงเนื่องจากโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่และไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในชุดอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาความปลอดภัยในทรัพย์ที่อยู่ภายใต้ความดูแลตามหน้าที่ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share