แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างส่งภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ทั้งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 23,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 23,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 317,885 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 317,885 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (15 มกราคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 1 จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ก่อสร้างและดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดิน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) สายอำเภอปากท่อ – อำเภอชะอำ ตอนที่ 2 (ทางเลี่ยงเมืองเพชรบุรี) ส่วนที่ 1 โดยขยายถนนทางเดินรถด้านขาออกนอกเมืองเพชรบุรี จากสองช่องเดินรถเป็นสามช่องเดินรถ ระหว่างก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552เวลาประมาณ 7 นาฬิกา โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน วว 4064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดภูเก็ต ตามถนนเลี่ยงเมืองเพชรบุรี ในช่องเดินรถด้านขวา เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้ง มีการก่อสร้างผิวการจราจร แต่ช่องเดินรถด้านขวายังก่อสร้างไม่เสร็จ มีส่วนที่เป็นแอ่งพื้นต่างระดับลึกประมาณ 7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ถนนส่วนก่อนถึงแอ่งลาดยางแล้ว ส่วนถนนที่ถัดจากแอ่งยังไม่ได้ลาดยาง ทำให้รถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ขับพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องและนอกประเด็นแห่งคดีหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การว่า รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถกระบะบรรทุกที่ดัดแปลงให้เป็นรถยนต์นั่งหรือที่เกิดอุบัติเหตุเพราะสมรรถนะของรถยนต์ไม่ดี ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ไม่ได้ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ประมาทหรือไม่จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างส่งภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ทั้งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือนอกประเด็น ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่เกิดเหตุอยู่ในระหว่างก่อสร้าง โจทก์ที่ 1 ก็ไม่ควรที่จะขับรถด้วยความเร็วสูงถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่ามีป้ายสัญญาณเตือนเบี่ยงซ้ายติดอยู่เกาะกลางถนนห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร และโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ช่วงถนนที่เกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ขับรถในช่องเดินรถที่ 3 ตลอดมาจนถึงจุดที่เกิดเหตุ มีรถขับมาในช่องเดินรถที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เบี่ยงจากช่องเดินรถที่ 3 ไปช่องเดินรถที่ 2 จึงเป็นเหตุให้รถที่โจทก์ที่ 1 ขับประสบอุบัติเหตุ ส่วนรถในช่องเดินรถที่ 2 ไม่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 7 นาฬิกา มีแสงสว่างแล้ว ประกอบกับโจทก์ที่ 1 ขับรถในช่องเดินรถด้านขวาสุดโดยไม่สามารถเบี่ยงรถไปในช่องเดินรถที่ 2 ได้ เนื่องจากมีรถคันอื่นขับอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 จึงเชื่อว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เห็นป้ายเบี่ยงซ้ายที่เกาะกลางถนนแล้ว แต่ไม่สามารถเบี่ยงรถไปในช่องเดินรถที่ 2 ได้ ดังนี้ การที่รถยนต์พลิกคว่ำจึงมีสาเหตุมาจากโจทก์ที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงและเมื่อเห็นป้ายเบี่ยงซ้ายแล้วไม่ชะลอความเร็วเพื่อเข้าไปในช่องเดินรถที่ 2 แต่ยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงตรงไปยังที่เกิดเหตุจึงทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถได้ เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จึงเป็นพับกันไป เมื่อโจทก์ที่ 2 ใช้ให้โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปจังหวัดภูเก็ต โจทก์ที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผลในการกระทำของโจทก์ที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ