คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายฝ่ายเดียว ที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ว่าผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกับจำเลย ไม่อาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างใหม่ซึ่งไม่ได้ปรากฏในชั้นพิจารณา ถือเป็นการยกขึ้นอ้างในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอ้างในฎีกาว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่การวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้ผลทางคดีอาญาเปลี่ยนแปลงไปเพราะไม่ได้กระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ส่วนผู้เสียหายจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยดังที่อ้างในฎีกาได้หรือไม่ เป็นประเด็นเรื่องของความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งที่ต้องไปว่ากล่าวกันในส่วนแพ่ง ปัญหานี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
ระหว่างพิจารณา นายวิจิตร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (1) (8) จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับจำเลยได้วางเงินต่อศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า อุทธรณ์ในข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยเพราะโจทก์ร่วมสมัครใจวิวาทกับจำเลย เป็นกรณีต้องห้ามอุทธรณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้กำปั้นชกต่อยทำร้ายร่างกายนายวิจิตร ผู้เสียหาย ที่บริเวณใบหน้า แล้วใช้มือทั้งสองข้างควักลูกตาทั้งสองข้างของผู้เสียหาย และจับศีรษะผู้เสียหายโขกลงกับพื้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากตาข้างขวาไม่สามารถมองเห็นภาพได้อีก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายฝ่ายเดียว ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ว่าผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกับจำเลย ไม่อาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างใหม่ซึ่งไม่ได้ปรากฏในชั้นพิจารณา ถือเป็นการยกขึ้นอ้างในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอ้างในฎีกาว่าปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่การวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้ผลทางคดีอาญาเปลี่ยนแปลงไปเพราะไม่ได้กระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ส่วนผู้เสียหายจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยดังที่อ้างในฎีกาได้หรือไม่ เป็นประเด็นเรื่องของความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งที่ต้องไปว่ากล่าวกันในส่วนแพ่ง ปัญหานี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 โดยให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่กระทำความผิดขณะใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เดิม ซึ่งระวางโทษเพียงโทษจำคุกในอัตราดังกล่าวเพียงสถานเดียว จึงคงใช้บังคับตามมาตรา 297 เดิม แก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ตลอดระยะเวลารอการลงโทษ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share