คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3337/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ส่งสำเนาคำขอกู้และหนังสือกู้เงินโดยไม่ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลแต่พนักงานสอบสวนรับรอง สำเนาถูกต้องโดยไม่ปรากฏว่าสำเนานั้นไม่ตรงกับต้นฉบับ ทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น ศาลรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 238
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำขอกู้เงินในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่า ช. ถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมปลอมคำขอกู้และหนังสือกู้เงินและไม่ได้ใช้คำขอกู้และหนังสือกู้เงินปลอม จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินราย ช. หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ชอบแล้ว
บ. เผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้ จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๘๘, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๕๒, ๓๕๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๘๓ มาตรา ๑๘๘ อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันปลอมและใช้คำขอกู้เงินปลอม กับปลอมและใช้หนังสือกู้เงินปลอม อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก ๑ ปี ฐานปลอมและใช้บัญชีเงินกู้ปลอม อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก ๑ ปี ฐานทำลายเอกสาร จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๓ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๘๓ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก ๑ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และมาตรา ๑๘๘, ๘๖ อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก ๑ ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสาร จำคุก ๘ เดือน รวมจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน จำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก, ๒๖๕, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ จำคุก ๑ ปี ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้คำขอกู้เงินปลอมกับปลอมและใช้หนังสือกู้เงินปลอมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ที่ ๑ นำส่งศาลเพียงสำเนาคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน โดยไม่ได้ส่งต้นฉบับต่อศาล จึงไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า สำเนาเอกสารที่ส่งต่อศาลนั้น พนักงานสอบสวนได้รับรองสำเนาถูกต้องโดยไม่ปรากฏว่าสำเนานั้นไม่ตรงกับต้นฉบับ อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๓๘
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อสมาชิกสหกรณ์การเกษตรขาณุวรลักษบุรี จำกัด โจทก์ที่ ๒ ขอกู้เงิน พนักงานสินเชื่อ จะสอบถามสมาชิกแล้วกรอกข้อความในคำขอกู้ให้สมาชิกที่ขอกู้ลงลายมือชื่อในคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน จากนั้นเสนอต่อผู้จัดการตรวจสอบ เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ผู้จัดการจะลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ส่งคืนให้แก่พนักงานสินเชื่อเพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินกู้โจทก์ที่ ๒ ต่อไป จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในคำขอกู้และหนังสือกู้เงิน ดังกล่าวไปในฐานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์แทนผู้จัดการ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ รู้ว่านายเชื่อมถึงแก่ความตายแล้ว อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีในศาลว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ร่วมปลอมคำขอกู้เงินและหนังสือกู้เงินและไม่ได้ใช้คำขอกู้และหนังสือกู้เงินปลอม จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ ๑ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง นั้นชอบแล้ว
ส่วนกรณีจำเลยที่ ๑ สั่งให้นางบังอรเผาทำลายบัญชีเงินกู้ของโจทก์ที่ ๒ จะลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานใดนั้น ป.อ. มาตรา ๘๔ บัญญัติว่า “ผู้ใด ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” และวรรคสองบัญญัติว่า ” ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ” หมายความว่าผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้นางบังอรเป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่นางบังอรในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่นางบังอรต้องเผาบัญชีเงินกู้ หากนางบังอรทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นางบังอรก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เนื่องจากนางบังอรอาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่นางบังอรยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา คงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้นางบังอรเผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะนางบังอรผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ ๑ ใช้นางบังอรเป็นเครื่องมือของจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ใช้ให้นางบังอรกระทำความผิด แต่ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานใช้ให้กระทำความผิดฐานทำลายเอกสารไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในคำฟ้องในสาระสำคัญ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสาร พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานทำลายเอกสารนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดฐานทำลายเอกสารนั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และมาตรา ๑๘๘ อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก ๑ ปี ฐานทำลายเอกสาร จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ .

Share