แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสายไฟฟ้าเก่าของผู้เสียหายที่วางอยู่ตามพื้นโรงงานมาวางบนเหล็กร้อน ทำให้เปลือกสายไฟฟ้าไหม้ ละลายหมดเหลือแต่ลวดทองแดงที่เป็นซากของสายไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์นั้นไปขาย แต่ก็มิใช่แปรสภาพไปเป็นของอื่น ถือว่า เริ่มลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นับแต่ที่นำสายไฟฟ้าไปวางบนเหล็กร้อนแล้ว และเป็นความผิดต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งขนย้ายลวดทองแดงออกจากโรงงานไปขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่นอกรั้วโรงงาน แต่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โยนทรัพย์ออกมาประมาณ 100 เมตร ไม่อาจช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที ไม่ใช่แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนที่เป็นการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น
การที่จำเลยทั้งสามคบคิดกันลักลวดทองแดงของผู้เสียหายโดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้โรงงาน เพื่อบรรทุกทรัพย์ไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า ประสงค์จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ดังกล่าว
สายไฟฟ้าของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยลักนำไปเผาลอกเอาเปลือกออกยังคงเหลือซากที่เป็นลวดทองแดงอยู่ มิได้ถูกทำลายสูญหายไปทั้งหมดหรือแปรสภาพไปเป็นของอื่นแล้ว เมื่อผู้เสียหายได้รับลวดทองแดงคืนแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จะขอให้คืนหรือใช้ราคาเต็มของสายไฟฟ้าแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43อีกไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยเนื่องจากนำสายไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเอาเองเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อจะใช้ เป็นพาหนะบรรทุกลวดทองแดงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักไปไม่ได้ใช้ เป็น เครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์โดยตรงจึงถือไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2537 เวลากลางคืนหลังเที่ยงมีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักทรัพย์สายไฟฟ้าหนัก 75 กิโลกรัม ราคา4,300 บาท ของบริษัทผลิตเหล็กไทยพัฒนา จำกัด ผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมด้วยลวดทองแดงหนัก 37 กิโลกรัม ราคา 1,050 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายไฟฟ้าของผู้เสียหายที่ถูกเผาเอาเปลือกออก อันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักเอาไปดังกล่าวข้างต้นเป็นของกลาง และต่อมาเจ้าพนักงานยึดได้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สุพรรณบุรี น.-200 ซึ่งคนร้ายใช้เป็นยานพาหนะในการลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นของกลาง ทั้งนี้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายได้ร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งลวดทองแดงของกลางดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลวดทองแดงของกลางผู้เสียหายรับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(11), 336 ทวิ, 357, 83, 33 ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,300 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337(1)(7)(11) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ(ที่ถูกมาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 83) จำคุกคนละ 3 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ2 ปี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 3,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าลวดทองแดงของกลางเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายจริงตามฟ้องหาใช่ของผู้อื่นไม่ศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวต่อไปอีกว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามว่า ในวันเกิดเหตุเวลาเช้า จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้นำสายไฟฟ้าเก่าของผู้เสียหายที่วางอยู่ตามพื้นในโรงงานมาวางบนเหล็กร้อนแดงทำให้เปลือกสายไฟฟ้าไหม้ละลายออกหมดเหลือแต่ลวดทองแดงแต่ลวดทองแดงดังกล่าวก็เป็นซากของสายไฟฟ้า หาใช่เป็นทรัพย์ที่ได้แปรสภาพไปเป็นของอื่นแล้วตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ และการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3กระทำดังกล่าวก็เพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์นั้นไปขายในภายหลังถือว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เริ่มลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สายไฟฟ้าของผู้เสียหายนับแต่เวลาที่นำสายไฟฟ้าไปวางบนเหล็กร้อนแดงแล้ว และเป็นความผิดต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เริ่มขนย้ายลวดทองแดงอันเป็นซากสายไฟฟ้าดังกล่าวออกจากโรงงานผู้เสียหายจะไปขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่นอกรั้วโรงงานของผู้เสียหายในเวลาค่ำ ตามพฤติการณ์ถือไม่ได้ว่าการลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เสร็จเด็ดขาดไปเมื่อมีการลอกเอาเปลือกสายไฟฟ้าออกแล้ว เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงวางลวดทองแดงซึ่งเป็นซากสายไฟฟ้าดังกล่าวไว้ในโรงงานของผู้เสียหายโดยมิได้มีเจตนาเอาไปเสียให้พ้นจากความครอบครองของผู้เสียหายโดยเด็ดขาด การที่จำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องกับลวดทองแดงของกลางในขณะที่ความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2และที่ 3 ต่อเนื่องกันมาโดยยังไม่เสร็จเด็ดขาดในกรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 1จึงต้องมีความผิดทางอาญาอยู่และศาลฎีกาเห็นว่า คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1เพียงแต่ขับรถจักรยานยนต์ของกลางมารอบรรทุกทรัพย์ที่ลักอยู่ห่างจากจุดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โยนทรัพย์ของกลางออกมานอกรั้วโรงงานผู้เสียหายประมาณ 100 เมตร และการลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เกิดขึ้นภายในรั้วโรงงานของผู้เสียหาย ไม่อาจช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที แม้จำเลยที่ 1จะคบคิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนที่เป็นการกระทำความผิดนั้นเอง เป็นแต่ได้มีส่วนให้ความช่วยเหลือในการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะพาทรัพย์นั้นไป ในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3กำลังกระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยทั้งสามคบคิดกันลักทรัพย์ลวดทองแดงอันเป็นซากสายไฟฟ้าของผู้เสียหายโดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้โรงงานที่เกิดเหตุเพื่อบรรทุกทรัพย์ที่ลักไปจากที่เกิดเหตุ เช่นนี้ย่อมเล็งเห็นเจตนาของจำเลยทั้งสามได้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสามประสงค์จะใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ บัญญัติไว้ ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นตัวการร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปอีกว่า ที่โจทก์มีคำขอมาท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ (สายไฟฟ้า) เป็นเงิน 4,300บาท แก่ผู้เสียหายนั้น เป็นคำขอที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สายไฟฟ้าตามฟ้องของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำไปเผาลอกเอาเปลือกออกยังคงเหลือซากอยู่ หาได้ถูกทำลายสูญหายไปทั้งหมดหรือถูกแปรสภาพไปเป็นของอื่นแล้วไม่ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับลวดทองแดงของกลางซึ่งก็คือซากสายไฟฟ้าตามฟ้องคืนจากเจ้าพนักงานแล้ว โจทก์จะมาขอให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาเต็มของสายไฟฟ้าดังกล่าวแก่ผู้เสียหายแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 อีกไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามเนื่องจากสายไฟฟ้าของผู้เสียหายถูกเผาลอกเอาเปลือกออกหมดเหลือแต่ลวดทองแดง ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเอาเองเป็นคดีใหม่ และค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์ก็มิได้กล่าวถึง เป็นเรื่องนอกความประสงค์ของโจทก์ไม่มีเหตุที่จะต้องยกขึ้นพิจารณาด้วย จึงชอบที่ศาลจะยกคำของโจทก์ในข้อนี้เสีย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ ซึ่งที่ถูกคือค่าเสียหายบางส่วนเป็นเงิน 3,700 บาท แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ถูกต้องและสำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับมารออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อจะใช้เป็นพาหนะบรรทุกเอาลวดทองแดงของกลางไปจากที่เกิดเหตุ ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ของกลางโดยตรง จึงถือไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86จำคุก 1 ปี และให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 2 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วสำหรับจำเลยที่ 1 คงให้จำคุก 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 คงให้จำคุกคนละ1 ปี 4 เดือน ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่ให้คืนแก่เจ้าของและให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,300 บาทแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2