คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6345/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อันเป็นการใช้อำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) และเมื่อเพิกถอนการโอนได้แล้วที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อ. มิได้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่โต้แย้งว่าโจทก์เลือกปฏิบัติโดยไม่ฟ้องดำเนินคดีแก่บุตรของโจทก์และบุคคลอื่นที่ได้รับโอนที่ดินจากบริษัท อ. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่หากจำเลยทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท อ. เห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการถอดถอนโจทก์ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ต่อไป การที่โจทก์ไม่ฟ้องบุคคลอื่นดังกล่าว จึงมิใช่โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต
เมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัท อ. ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและประกาศแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วต้องถือว่าบริษัท อ. เลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(5)ทั้งมีผลให้โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะกรรมการของบริษัทเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. การโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งหก เป็นการโอนตามข้อตกลงแบ่งมรดกระหว่างทายาทที่มีภายหลังจากบริษัท อ. เป็นบริษัทร้างแล้วและไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดิน จึงไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และไม่มีผลผูกพันบริษัท อ. เป็นการโอนโดยมิชอบจำเลยทั้งหกต้องโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัท อ.
โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความมุ่งหมายให้จำเลยทั้งหกโอนที่ดินพิพาทคืนแก่บริษัท อ. เป็นประการแรก ส่วนที่จะให้จำเลยทั้งหกชดใช้ราคาที่ดินพิพาทก็ต่อเมื่อไม่อาจโอนที่ดินพิพาทได้เพราะเหตุพ้นวิสัยเท่านั้น ประกอบกับการกำหนดราคาที่ดินพิพาทในขณะจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินเกิดจากการตกลงระหว่างทายาทเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จึงมิใช่ราคาที่ดินพิพาทที่แท้จริง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาที่ดินพิพาทตามราคาประเมินต่ำสุดในขณะยื่นฟ้องจึงถูกต้องเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินพิพาทคืนนั้น ขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจำเลยทั้งหกไม่ทราบเรื่องที่บริษัท อ. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง แสดงว่าจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยทั้งหกจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชี

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยแต่ละสำนวนว่า จำเลยที่ 1ถึงจำเลยที่ 6 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเฉพาะสำนวนที่ 2ที่ 4 และที่ 6 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1242 ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 51 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวาที่ดินโฉนดเลขที่ 1112, 1113 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวาและ 26 ไร่ 15 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 662 ตำบลบ้านระกาศอำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 13 ไร่ 78 ตารางวาจำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1095ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 27 ไร่ 56 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1226, 10110 และ 10112 ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 49 ไร่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 706 ตำบลจรเข้น้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 108 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1030 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่77 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1226, 10111 ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 49 ไร่30 ตารางวา และ 12 ไร่ 38 ตารางวา จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1026 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 88 ไร่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1112,10116 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 79 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา จำเลยที่ 5 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1113, 10115และ 1115 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 78 ไร่ และ 25 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวาจำเลยที่ 6 ส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 650,651 ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา และ 41 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1008 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 60 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา คืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก และให้จำเลยทั้งหกชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นใดที่เจ้าพนักงานเรียกเก็บในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 167,249,750 บาท จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 201,074,000 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินจำนวน 151,212,500 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้เงินจำนวน 159,370,000 บาทจำเลยที่ 5 ชดใช้เงินจำนวน 110,980,000 บาท และจำเลยที่ 6 ชดใช้เงินจำนวน 142,199,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งหกสำนวนให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้องคืนให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 คือโฉนดเลขที่ 1242 ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 52 ไร่ 94 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1112 และ 1113 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา และเนื้อที่ 26 ไร่ 15 ตารางวาตามลำดับ และโฉนดเลขที่ 662 ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 13 ไร่ 78 ตารางวา จำเลยที่ 2คือโฉนดเลขที่ 1095 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 27 ไร่ 56 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1226ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่24 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา (ซึ่งต่อมาแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10110และ 10112) และที่ดินโฉนดเลขที่ 706 ตำบลจรเข้น้อย อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 108 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวาจำเลยที่ 3 คือโฉนดเลขที่ 1030 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ(บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 77 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวาและโฉนดเลขที่ 1226 ตำบลเปรง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 24 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา (ซึ่งต่อมาแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10111) จำเลยที่ 4 คือโฉนดเลขที่ 1026ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 80 ไร่ 35 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 1112 ตำบลคลองนิยมยาตราอำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 79 ไร่ 1 งาน20 ตารางวา (ซึ่งต่อมาแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10116) จำเลยที่ 5คือโฉนดเลขที่ 1113 (ซึ่งต่อมาแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10115) และโฉนดเลขที่ 1115 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 78 ไร่ และ 25 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวาตามลำดับ จำเลยที่ 6 คือโฉนดเลขที่ 650 และ 651 ตำบลบ้านระกาศอำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน27 ตารางวา และ 41 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา ตามลำดับ และโฉนดเลขที่ 1008 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 60 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหกในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งหกชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นที่เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกรณีที่จำเลยทั้งหกไม่อาจโอนที่ดินดังกล่าวได้ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 74,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน 105,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้เงิน 96,000,000 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้เงิน 119,000,000 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้เงิน 50,000,000 บาท และจำเลยที่ 6 ชดใช้เงิน 134,000,000 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 พฤศจิกายน2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1242 ตามเอกสารหมาย จ.6 เนื้อที่51 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา เท่าที่โจทก์ขอ หากไม่อาจโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงคืนได้ให้ใช้ราคาแทน 73,823,600 บาท ให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคนละกึ่งหนึ่งตามส่วนแบ่งที่ดินซึ่งจำเลยแต่ละคนได้รับโอนไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งหกฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นบุตรของนายบรรจงกับนางจรุงอัศวาณิชย์ บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่18 สิงหาคม 2509 มีนายบรรจง นางจรุง โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5และที่ 6 และบุคคลในครอบครัวอัศวาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น โดยมีนายบรรจง นางจรุง และโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนายบรรจงและนางจรุงถึงแก่ความตายเมื่อปี 2511 และปี 2515 ตามลำดับกรรมการของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด จึงเปลี่ยนเป็นโจทก์จำเลยที่ 3 และที่ 5 โดยกรรมการ 2 ใน 3 คน ดังกล่าวมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเนื่องจากมิได้ส่งงบดุลประจำปีต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย จ.3 และออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 แล้วต่อมาวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 23 ธันวาคม 2529 บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ให้แก่จำเลยทั้งหก โดยโฉนดเลขที่ 1242, 1112,1113 และ 662 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 โฉนดเลขที่ 1095, 1226 (แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10110 และ10112) และ 706 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.31 โฉนดเลขที่ 1030 และ 1226 (แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10111) โอนให้แก่จำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.16 โฉนดเลขที่ 1026 และ 1112 (แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10116) โอนให้แก่จำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.17 จ.7 และ จ.18 โฉนดเลขที่ 1113 (แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 10115) และ 1115 โอนให้แก่จำเลยที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.21 และโฉนดเลขที่ 650, 651 และ 1008 โอนให้แก่จำเลยที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.25 ตามลำดับ ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 ตามเอกสารหมาย จ.5

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งหกประการแรกว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด อันเป็นการใช้อำนาจของผู้ชำระบัญชีตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) ให้อำนาจไว้และเมื่อเพิกถอนการโอนได้แล้วที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด มิได้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่โต้แย้งว่าโจทก์เลือกปฏิบัติโดยมีบุตรของโจทก์และบุคคลอื่นได้รับโอนที่ดินจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ในลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยทั้งหก แต่โจทก์ไม่ฟ้องดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากจำเลยทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกจะดำเนินการถอดถอนโจทก์ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ต่อไป การที่โจทก์ไม่ฟ้องบุคคลอื่นดังกล่าวจึงมิใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดโอนที่ดินพิพาทคืนแก่บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ตามกฎหมายอยู่แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งหกต่อไปว่า นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด กับจำเลยทั้งหกมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและประกาศแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 แล้ว ต้องถือว่าบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(5) ทั้งมีผลให้โจทก์จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด และมีอำนาจอยู่เช่นเดิมตามความแห่งบทบัญญัติมาตรา 1251 ประกอบด้วยมาตรา 1252 ทั้งนี้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามมาตรา 1250 คือ ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งหกตรงกันว่า จำเลยทั้งหกได้รับโอนที่ดินพิพาทเนื่องจากการประชุมระหว่างทายาทที่มีขึ้นภายหลังจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดฆ่าชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทร้าง โดยตกลงให้แบ่งทรัพย์มรดกของบิดามารดาโจทก์และจำเลยทั้งหกออกเป็น 9 ส่วน แล้วให้ทายาททุกคนจับฉลาก ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529 ได้ประชุมทายาทแล้วมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ให้แก่ทายาทผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่จับฉลากได้ตามรายงานการประชุมกรรมการเอกสารหมาย ล.7 ประกอบกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เบิกความรับตรงกันว่าการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดิน แสดงว่าการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งหกเป็นการโอนตามข้อตกลงแบ่งมรดกระหว่างทายาทที่มีภายหลังจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทร้างแล้ว จึงไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 แต่บริษัทร้างจะต้องดำเนินการเพื่อเลิกบริษัทโดยการชำระบัญชี และกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้จดทะเบียนเพื่อให้นิติบุคคลสิ้นสภาพไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในมาตรา 1254 และ 1270 เมื่อจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทหลังจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด กลายเป็นบริษัทร้างแล้วซึ่งขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชี จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นการโอนโดยมิชอบ จำเลยทั้งหกต้องโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัดเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วฎีกาของจำเลยทั้งหกที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ในข้ออื่นแม้วินิจฉัยก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งหกข้อสุดท้ายว่าที่ดินพิพาทมีราคาเท่าใด จำเลยทั้งหกต้องรับผิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด หรือไม่ เพียงใด เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความมุ่งหมายให้จำเลยทั้งหกโอนที่ดินพิพาทคืนแก่บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นประการแรก ส่วนที่จะให้จำเลยทั้งหกชดใช้ราคาที่ดินพิพาทก็ต่อเมื่อไม่อาจโอนที่ดินพิพาทได้เพราะเหตุพ้นวิสัยเท่านั้นประกอบกับการกำหนดราคาที่ดินพิพาทในขณะจำเลยทั้งหกรับโอนนั้นเกิดจากการตกลงระหว่างทายาทเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันจึงมิใช่ราคาที่ดินพิพาทที่แท้จริงที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาที่ดินพิพาทตามราคาประเมินต่ำสุดในขณะยื่นฟ้องจึงถูกต้องเหมาะสมแล้วส่วนค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด นั้น ปรากฏว่าขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจำเลยทั้งหกไม่ทราบเรื่องที่บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัดถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง นอกจากนี้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งหก เอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 จ.19 จ.20 จ.26จ.27 และ จ.32 โจทก์เป็นผู้ลงนามแทนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้ขายด้วยภายหลังจากจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งหกไปแล้วจึงทราบว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างแสดงว่าจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยทั้งหกจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์จำกัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งหกชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวกึ่งหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share