คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์สองจำนวน คือจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้อง เพิ่มเงินจ้างบุคคลอื่นเป็นเงิน 856,067.45 บาท และอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน 36,200 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 856,067.45 บาท แต่ยกฟ้องค่าเสียหาย ส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน 36,200 บาท โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ในส่วนนี้เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท โจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาว่าค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานโจทก์ได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ เป็นปัญหา ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ส่วนนี้ ให้จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหานี้ได้ยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว และไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างคลองส่งน้ำพร้อมอาคารชลประทานและบ้านพักพนักงานสูบน้ำสถานีสูบน้ำ ข้อ 20 ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ 3 และ (2) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้ว เสร็จบริบูรณ์ ส่วนสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 302,800 บาท มอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ 20 (1) และ (2) จากจำเลยทั้งสามได้ทั้งสองจำนวน แต่ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 20 (1) และ (2) เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดได้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 และเมื่อศาลล่าง ทั้งสองกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวคุ้มกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์แยกต่างหากเป็นอีกจำนวนหนึ่งแต่ให้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 302,800 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ๘๙๒,๒๖๗.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ ๓ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ๓๐๒,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงิน ๘๕๖,๐๖๗.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๕) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวเป็นเงิน ๓๐๒,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์สองจำนวน คือจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้องเพิ่มเงินจ้างบุคคลอื่นเป็นเงิน ๘๕๖,๐๖๗.๔๕ บาท และอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน ๓๖,๒๐๐ บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงินแก่โจทก์ ๘๕๖,๐๖๗.๔๕ บาท แต่ยกฟ้องค่าเสียหายส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน ๓๖,๒๐๐ บาท โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดในส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท โจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงาน เป็นเงิน ๓๖,๒๐๐ บาท เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายจริง ปัญหาว่าค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานโจทก์ได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ส่วนนี้ให้โจทก์จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหาที่โจทก์ได้รับ ความเสียหายที่ต้องจ้างผู้ควบคุมงานหรือไม่ได้ยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว และไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงิน ๓๐๒,๘๐๐ บาท ต่างหากจากจำนวนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องรับผิด เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตพร้อมอาคารชลประทานและบ้านพักพนักงานสูบน้ำสถานีสูบน้ำบ้านนามน อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ข้อ ๒๐ ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ ๓ และ (๒) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่ เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ ส่วนสัญญาข้อ ๓ ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๓๐๒,๘๐๐ บาท มอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิ เรียกร้องตามสัญญาว่าจ้าง ข้อ ๒๐ (๑) และ (๒) จากจำเลยทั้งสามได้ทั้งสองจำนวน แต่ข้อตกลงตามสัญญาข้อ ๒๐ (๑) และ (๒) เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วเห็นว่าที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดชำระเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์เป็นเงินจำนวน ๘๕๖,๐๖๗.๔๕ บาท นั้น ถือว่าเป็นการเพียงพอคุ้มกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วจึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ ๓ ต้องรับต่อโจทก์แยกต่างหากเป็นอีกจำนวนหนึ่ง แต่เห็นสมควรให้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดังกล่าวในวงเงินไม่เกิน ๓๐๒,๘๐๐ บาท นั้นนับว่าเหมาะสมและสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ และยกฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share