แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยอนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 เป็นต้นไป แม้สัญญาจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จำเลยก็คงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงวันที่ 21 มกราคม 2542 เท่านั้น
กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ลูกจ้างล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้จะขอให้จำเลยอนุมัติให้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และจำเลยเพิ่งอนุมัติให้ลาออกตามโครงการดังกล่าวนั่นเองอันเป็นการอนุมัติให้ลาออกตามคำขอของโจทก์ จึงถือว่าเป็นการขอลาออกจากงานด้วยความสมัครใจของโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่ลูกจ้าง จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายลาออกเองจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสามสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 32 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสิบสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสามสิบสองตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสามสิบสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามสิบสองเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 จำเลยได้ประกาศเรื่อง โครงการพิเศษเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่มีสิทธิจะขอเกษียณอายุก่อนกำหนดและเงื่อนไขในการขอเกษียณอายุก่อนกำหนดกับผลประโยชน์ตอบแทนไว้ สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะจ่ายให้แก่พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เกษียณอายุก่อนกำหนดนั้นได้แก่เงินบำเหน็จและค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสองประการดังกล่าวคำนวณจากฐานเงินเดือนเดือนสุดท้ายประกอบกับหลักเกณฑ์อื่นที่จำเลยกำหนดขึ้น โจทก์ทั้งสามสิบสองได้ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ทั้งสามสิบสองลาออกจากการเป็นพนักงานโดยเกษียณอายุก่อนกำหนดได้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 การคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์แต่ละคนต้องนำอัตราเงินเดือนที่โจทก์แต่ละคนได้รับในเดือนสุดท้ายของปี 2541 เป็นฐานในการคำนวณ เพราะโจทก์ทั้งสามสิบสองไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2542 เนื่องจากโจทก์ทั้งสามสิบสองไม่มีสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนประจำปี 2541 ของจำเลย ข้อ 5.5.2 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในเดือนมกราคม 2542 ตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 31 รวม 9 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการพิเศษเกษียณอายุก่อนกำหนดดังกล่าวเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ มิใช่เป็นการเลิกจ้างและสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามสิบสองกับจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 เป็นต้นไปแล้ว การเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุดังกล่าวไม่มีข้อความเขียนไว้โดยชัดแจ้งว่า พนักงานผู้เข้าร่วมโครงการสมัครใจที่สละสิทธิไม่ขอรับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม โจทก์ทั้งสามสิบสองจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 36,577.36 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 12,570.88 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 15,058.60 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 23,385.12 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 23,423.43 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 22,033.36 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 11,136.88 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 3,398.36 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 20,233.44 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 9,888 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 22,445.76 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 4,961 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 4,359.99 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 3,090 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 20,117.76 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 538.18 บาท โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 3,203.30 บาท โจทก์ที่ 18 เป็นเงิน 2,959.53 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 20,317.78 บาท โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 5,771.40 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 22,952.52 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 13,436.69 บาท โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 9,636.68 บาท โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 5,748.77 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 6,828.90 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 14,428.24 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 4,706.07 บาท โจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 1,793.92 บาท โจทก์ที่ 29 เป็นเงิน 14,420 บาท โจทก์ที่ 30 เป็นเงิน 4,058.16 บาท โจทก์ที่ 31 เป็นเงิน 16,797.36 บาท และโจทก์ที่ 32 เป็นเงิน 6,741.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับจากวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แต่ละคนเสร็จ คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์ทั้งสามสิบสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบสองประการแรกว่า เงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ทั้งสามสิบสองมีเพียงใด เห็นว่า แม้ระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลย ลักษณะที่ 2 หมวดที่ 5 การพิจารณาความดีความชอบและการลงโทษจะระบุไว้ในข้อ 3 ว่า พนักงานซึ่งทำงานมาครบ 1 ปี ในรอบปีแห่งการพิจารณาขึ้นเงินเดือนสำหรับปีนั้นเป็นผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน รอบปีในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมแห่งปีนั้นก็ตาม แต่ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า พนักงานของจำเลยซึ่งทำงานมาครบ 1 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ในรอบปีแห่งการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเป็นผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเท่านั้น ส่วนพนักงานดังกล่าวจะได้รับการขึ้นเงินเดือนหรือไม่ เพียงใด ยังต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ตามระเบียบข้อบังคับอื่นๆ อีกด้วย ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยได้ประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนของพนักงานประจำปี 2541 โดยระบุไว้ในข้อ 5.5.2 ว่า พนักงานของจำเลยที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนต้องมีสถานภาพการเป็นพนักงานจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 หลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนดังกล่าวหมายความว่า พนักงานของจำเลยซึ่งเป็นผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี 2541 เนื่องจากเป็นพนักงานที่ทำงานมาครบ 1 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ตามระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลยลักษณะที่ 2 หมวดที่ 5 ข้อ 3 แล้ว การจะได้รับพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือไม่ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นพนักงานที่มีสถานภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 อีกด้วย หากพนักงานผู้ใดพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนวันที่ 31 มกราคม 2542 แม้จะเป็นผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนตามระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลย ลักษณะที่ 2 หมวดที่ 5 ข้อ 3 ก็ตาม จำเลยก็จะไม่พิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ หลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนพนักงานของจำเลยประจำปีและการที่จะกำหนดให้พนักงานของจำเลยได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด เป็นอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่กระทำได้ตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ของจำเลย ตามระเบียบข้อบังคับพนักงานของจำเลยลักษณะที่ 2 หมวดที่ 5 ข้อ 1 และข้อ 5 หลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนของพนักงานจำเลยประจำปี 2541 ข้อ 5.5.2 ที่ว่า พนักงานของจำเลยที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนต้องมีสถานภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบสองพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนวันถึงกำหนดดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องขึ้นเงินเดือนในปี 2542 ให้ การที่จำเลยนำเงินเดือนเดือนสุดท้ายในปี 2541 ของโจทก์แต่ละคนมาเป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์แต่ละคนจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามสิบสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบสองประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ 22 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์แต่ละคนหรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้และลูกจ้างก็มีหน้าที่ตอบแทนคือต้องทำงานให้แก่นายจ้างเช่นเดียวกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสามสิบสองเกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสามสิบสองและจำเลยจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 เป็นต้นไป แม้สัญญาจ้างดังกล่าวจะกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนก็ตาม จำเลยคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนเพียงวันที่ 21 มกราคม 2542 เท่านั้น ไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ 22 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองอีก ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ลูกจ้างล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น การที่โจทก์แต่ละคนยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดตามโครงการพิเศษเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้ว่าคำขอดังกล่าวจะขอให้จำเลยอนุมัติให้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และจำเลยเพิ่งจะอนุมัติให้ลาออกในวันที่ 21 มกราคม 2542 ก็ตาม แต่ก็เป็นการยื่นคำขอและการอนุมัติให้ลาออกตามโครงการพิเศษเกษียณอายุก่อนกำหนดนั่นเอง การอนุมัติของจำเลยดังกล่าวเป็นการอนุมัติให้โจทก์แต่ละคนลาออกตามคำขอของตนเอง จึงถือว่าเป็นการขอลาออกจากงานด้วยความสมัครใจของโจทก์แต่ละคน การที่จำเลยอนุมัติคำขอของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสอง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามสิบสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองหรือไม่ เห็นว่า แม้ในการยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดของโจทก์แต่ละคนจะไม่มีข้อความที่แสดงว่าโจทก์แต่ละคนยินยอมสละสิทธิการเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิอยู่แล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ และรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 30” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งว่า การที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่ลูกจ้างนั้นจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสามสิบสองเป็นฝ่ายลาออกเอง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายเลิกจ้าง ฉะนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามสิบสองที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสองเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.