คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 91/1 (4) แห่ง ป.รัษฎากร ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวงซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4)
ส่วนการขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้… (6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป. รัษฎากร มีดังต่อไปนี้… (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรม แต่อสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์โอนไปดังกล่าว โจทก์จำเป็นต้องมีไว้ในการประกอบกิจการเพราะใช้ทำสำนักงานและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ถูกเวนคืนไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ ย่อมไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป. รัษฎากร
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2549)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเลขที่ 02010450/6/100012 เลขที่ 02010450/6/100013 และเลขที่ 02010450/6/100014 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3) 17.1/8/44 เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.2/8/44 และเลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.3/8/44 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2543
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษาอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2347ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โจทก์ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวในการประกอบกิจการทำสำนักงานและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จำหน่าย ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ.2536 ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะเวนคืนคิดเป็นเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา กรมทางหลวงได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์รวม 3 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 194,564,902.49 บาท โจทก์มิได้นำรายรับดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเลขที่ 02010450/6/100012 เลขที่ 02010450/6/100013 และเลขที่ 02010450/6/100014 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ทั้งสามฉบับ ให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินจำนวน 23,707,531 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.1/8/44 เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.2/8/44 และเลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.3/8/44 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ทั้งสามฉบับยืนตามการประเมินแต่ให้ลดภาษีและงดเบี้ยปรับ คงเรียกเก็บรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,866,249.29 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ.2536 และการที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวงเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอนจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4)
ส่วนปัญหาว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวจะถือเป็นการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากรมาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้…(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรมีดังต่อไปนี้…(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรมก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าทรัพย์ดังกล่าวโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นสำนักงานและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากการถูกเวนคืน ไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเลขที่ 02010450/6/100012 เลขที่ 02010450/6/100013 และเลขที่ 02010450/6/100014 ลงวันที่ 21 มิถุนาน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.1/8/44 เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.2/8/44 และเลขที่ สภ.2 (อธ.3.3)/17.3/8/44 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

Share