คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่1ผู้เยาว์ใช้ไม้เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ถูกที่บริเวณตาขวาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46จำเลยที่1จะต่อสู้คดีและนำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ส่วนจำเลยที่2และที่3บิดามารดาของจำเลยที่1ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วยผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่2และที่3ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในคดีแพ่งใหม่ได้ จำเลยที่1มีอายุ14ปีเศษมีความรู้ผิดชอบพอสมควรเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1มีนิสัยเกเรชอบรังแกผู้อื่นมาก่อนย่อมเป็นการยากที่จะให้จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นบิดามารดาใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลจำเลยที่1ตลอดเวลาทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่1ใช้ไม้ขว้างทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการกระทำลับหลังจำเลยที่2และที่3จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่2และที่3ไม่อาจคาดคิดหรือควรคิดได้ว่าจำเลยที่1จะกระทำเช่นนั้นต่อโจทก์จำเลยที่2และที่3ไม่มีโอกาสปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ดีกว่านี้แล้วถือว่าจำเลยที่2และที่3ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่1แล้วจำเลยที่2และที่3จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2และที่ 3 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536 เวลากลางวันจำเลยที่ 1ใช้ไม้ท่อนปาทำร้ายโจทก์ถูกที่ตาข้างขวาอย่างแรง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเป็นแผลที่กลางจอประสาทตาขาว เสนส์ตาเคลื่อนหลุดจากศูนย์ เสียความสามารถในการมองเห็นรายละเอียดของวัตถุ ไม่สามารถใช้ตาขวาอ่านหนังสือได้ตลอดชีวิตโจทก์ต้องเข้ารับการรักษาดวงตา เสียค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะเป็นเงิน 12,455 บาทจะต้องได้รับการผ่าตัดดวงตาในโอกาสต่อไปซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดดวงตา 20,000 บาท ต้องเสียค่ารักษาดวงตาเป็นรายเดือนต่อไปจนตลอดชีวิตเดือนละ 400 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปเป็นเวลา 40 ปี เป็นเงิน 192,000 บาท ค่าที่ต้องกลายเป็นคนพิการและไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปในอนาคตบางส่วนคิดเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ 424,455 บาทจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ที่จะต้องคอยดูแลจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน424,455 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เจตนาทำร้ายโจทก์แต่ได้ร่วมเล่นกีฬาพื้นบ้านซึ่งมีชื่อเรียกว่า ไม้หึ่งหรือไม้ตี่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 โยนไม้ถูกตาโจทก์โดยสุดวิสัย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้วค่าเสียหายที่โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดสูงเกินสมควรขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน65,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 255,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นบุตรผู้เยาว์ของนายอนันต์และนางจินดา ศรีทองเชื้อจำเลยที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเพื่อนบ้านและเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเดียวกันในวันเกิดเหตุโจทก์กับจำเลยที่ 1 และพวกอีก 2 คน ร่วมกันเล่นเกมไม้หึ่งหรือไม้ตี่ที่บริเวณหน้าวัดดิษฐาวาส แล้วจำเลยที่ 1ใช้ไม้ขว้างปาถูกโจทก์ที่ตาขวาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ยาวประมาณ 1 คืบ เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ถูกที่บริเวณตาขวาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) คดีถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่205/2537 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ใช้ไม้เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ถูกที่บริเวณตาขวา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะต่อสู้คดีและนำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วยผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในคดีแพ่งเสียใหม่ได้ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ขว้างทำร้ายร่างกายโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอายุ 14 ปีเศษ มีความรู้ผิดชอบพอสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีนิสัยเกเรชอบรังแกผู้อื่นมาก่อน ย่อมเป็นการยากที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ตลอดเวลา ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1ใช้ไม้ขว้างทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการกระทำลับหลังจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจคาดคิดหรือควรคิดได้ว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้นต่อโจทก์ จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่มีโอกาสปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ดีกว่านี้แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้เสียความสามารถในการมองเห็นอย่างสิ้นเชิงโดยยังมองเห็นได้บ้าง แม้ปิดตาข้างซ้ายโจทก์ก็ยังสามารถไปติดต่อในที่ต่าง ๆ ได้ เพียงแต่ไม่สามารถอ่านหนังสือหรือจำหน้าบุคคลอื่นได้เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์เต็มจำนวนที่เรียกร้องเป็นเงิน200,000 บาท นั้น สูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 100,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 155,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share