คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1มีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับสินค้าปลายทางทราบถึงการที่เรือมาถึงจำเลยที่2ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยที่1เพื่อให้จำเลยที่1ไปติดต่อผู้รับใบตราส่งเท่านั้นจำเลยที่1ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปยังสถานที่เก็บหรือการเปิดตู้สิ้นค้าจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่3เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือและมอบให้จำเลยที่2จำเลยที่2เป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนสินค้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือฯและเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าจำเลยที่2และที่3จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ที่จำเลยที่2ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำค่าใช้จ่ายอีก10เปอร์เซ็นต์รวมเข้าเป็นค่าเสียหายด้วยไม่ถูกต้องปรากฎว่าจำเลยที่2มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง ตามใบตราส่งปรากฎชัดว่าสินค้ามีรวมทั้งหมด5หีบห่อและได้มีการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าครบถ้วนเมื่อปรากฎว่าสินค้าสูญหายไป4หีบห่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าสูญหายไประหว่างการขนส่งของผู้ขนส่งจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมขนส่งทอดสุดท้ายในประเทศไทย เมื่อเรือเดชะภูมิได้เข้าเทียบท่าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและได้ทำการขนถ่ายสินค้า ปรากฎว่าสินค้าพิพาทได้สูญหายไปจำนวน 4 หีบห่อคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 562,385.05 บาทโจทก์ในฐานผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่ผู้ซื้อ จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งดังกล่าว ให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 562,385.05 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ใช่เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทตามฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของบริษัทดิสตริบิวชั่น เซอร์วิส จำกัด ในการแจ้งให้ผู้ซื้อมารับใบสั่งปล่อยสินค้าของจำเลยที่ 2 ส่วน จำเลยที่ 2 เป็นเพียงพยานในการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ และจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ได้รับแต่งตั้งจากผู้ขนส่งสินค้าช่วงดินแดนไต่หวันมายังท่าเรือกรุงเทพให้ทำพิธีการเกี่ยวกับการนำเรือเข้าเทียบท่าในราชอาณาจักรแทนเรือเดชะภูมิไม่ได้ไปขนตู้คอนเทนเนอร์รายนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะสินค้าพิพาทไม่ได้สูญหายระหว่างการขนส่งทางทะเลดังกล่าวแต่ผู้ส่งส่งสินค้ามาไม่ครบ โดยในการขนส่งสินค้าพิพาทผู้ส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตนเองผู้ขนส่งจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง บริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค.ไลน์ส จำกัด ได้ขนตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวมายังประเทศไทย โดยตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อย ตราผนึกไม่ได้ถูกทำลาย สินค้าพิพาทที่สูญหายนั้นคิดเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท และมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดในใบตราส่งให้รับผิดไม่เกินหีบห่อละ 100 ปอนด์สเตอร์ลิง รวมเป็นเงิน400 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่านั้น ไม่ใช่จำนวน 562,385 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน562,385 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 26 สิงหาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ร่วมขนส่ง จึงไม่ต้องรับผิด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับสินค้าปลายทางทราบถึงการที่เรือมาถึง จำเลยที่ 2 ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปติดต่อผู้รับใบตราส่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปยังสถานที่เก็บหรือการเปิดตู้สินค้าจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3นั้น พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเดชะภูมิ และส่งมอบให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนสินค้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือฯและเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอด ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำค่าใช้จ่ายอีก 10 เปอร์เซ็นต์รวมเข้าเป็นค่าเสียหายด้วยไม่ถูกต้องปรากฎว่าจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สินค้าพิพาทไม่ได้สูญหายในช่วงการขนส่งระหว่างประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย จึงไม่ใช่เป็นการสูญหายระหว่างการขนส่งของผู้ขนส่งจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด ข้อนี้นายวิสิทธิ์ ลิ้มเจริญสุข พยานโจทก์เบิกความว่า บริษัทสก็อตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ขายสินค้าพิพาทและออกใบกำกับสินค้าและรายการหีบห่อ ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 นาย สมชาย ปิยะบูรณ์ พยานจำเลยที่ 1เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า บริษัทกลาดิชโอเวอร์ซีส์ จำกัดได้จ้างบริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด เพื่อให้ขนส่งสินค้าปรากฎตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งบริษัทกลาดิชโอเวอร์ซีส์ จำกัด ได้รับสินค้าจากบริษัทสก็อตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เท่าใดก็จะส่งมอบให้บริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด เท่านั้น บริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด จะเก็บค่าระวางขนส่งจากบริษัทกลาดิชโอเวอร์ซีส์ จำกัด ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.4 หลังจากนั้น บริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด จะบรรจุสินค้าเข้าตู้โดยจ้าง บริษัทมิตซุย โอ.เอส.เอ.ไลน์ส จำกัด ทำการขนส่งบริษัทมิตซุย โอ.เอส.เค.ไลน์ส จำกัด จะออกใบตราส่งเอกสารหมาย ล.5 โดยบริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด เป็นผู้บรรจุสินค้า ตามเอกสารหมาย จ.7 และ ล.4 บริษัทกลาดิชโอเวอร์ซีส์ จำกัดได้รับสินค้าไว้ 5 หีบห่อ และส่งมอบให้บริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด จำนวน 5 หีบห่อ เช่นกันนายสหัส ชินสมุทร พนักงานการท่าเรือฯ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าสินค้าขาดไป 4 หีบห่อ ปรากฎตามรายการสินค้าขาดจากบัญชีสินค้าเรือเอกสารหมาย จ.20 นายดำรงค์ บรรเทา พยานจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า รายการสินค้าขาดจากบัญชีเรือเอกสารหมาย จ.20แสดงว่าสินค้าที่การท่าเรือฯ รับเข้าโกดังขาดไป 4 หีบห่อ ไม่ครบตามรายการขนสินค้าจากเรือ เอกสารหมาย จ.21 เห็นว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 และ ล.4 ปรากฎชัดว่าสินค้ามีรวมทั้งหมด 5 หีบห่อจึงน่าเชื่อว่าได้มีการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าครบถ้วน เมื่อปรากฎว่าสินค้าสูญหายไป 4 หีบห่อ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสินค้าสูญหายไประหว่างการขนส่งของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share