คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกันจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตามเพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จำนวน1 คัน ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย วันที่ 10 ตุลาคม 2538จำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์ 111,274 บาทตกลงชำระงวดละ 9,272 บาท งวดแรกชำระวันที่ 15 ธันวาคม 2538งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 15 ของเดือน หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วผิดนัด คงค้างชำระจำนวน74,186 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่15 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 23,183 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 97,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 74,186 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และไม่เคยค้ำประกันการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 74,186 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2539จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน23,183 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 16ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับอุบัติเหตุเสียหายทั้งคัน บริษัทผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ยังไม่คุ้มราคาที่เช่าซื้อ จำเลยที่1 จึงตกลงทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ยินยอมชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวมดอกเบี้ยชำระล่าช้าเป็นเงิน111,274 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายงวด งวดละ 9,272บาท กำหนดชำระงวดแรก วันที่ 15 ธันวาคม 2538 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันทีและยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี จากยอดเงินที่ผิดนัดชำระทั้งหมด ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนคงค้างชำระจำนวน 74,186 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่าหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ได้ทำขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัว เจ้าหนี้ ลูกหนี้และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปเมื่อหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อยังไม่ระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้แก่โจทก์ด้วยก็ตาม เพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share