แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1310 เป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตว่าจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร คำว่า “สุจริต” ตามมาตรา 1310 มีความหมายว่า ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินโดยไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้ใด แต่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองและเชื่อว่าตนมีสิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้นได้โดยชอบ
จำเลยที่ 1 ได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ส. และได้ขออนุญาต ส.ปลูกบ้าน จึงไม่ทำให้บ้านตกเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 เข้าอยู่อาศัยในบ้านกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริตและบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ส. รับเอาบ้านแล้วใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้จำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง มิได้ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินได้กระทำไปโดยสุจริตเท่านั้น ส่วนกรณีเจ้าของที่ดินแม้ประมาทเลินเล่อไม่ห้ามปรามขัดขวางมิให้ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดิน ก็ไม่มีผลที่ผู้ปลูกสร้างจะอ้างเอาประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา 1310 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ได้
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกาจึงถือว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ หากไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ตามราคาตลาด ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าแห่งที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕,๐๐๐ บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดิน ดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านางสาวเลี่ยม ได้รับนายสวงศ์ และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหลานมาอุปการะเลี้ยงดูจนจำเลยที่ ๑ แต่งงานกับจำเลยที่ ๒ และย้ายออกไปต่อมาวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๘๘ นางสาวเลี่ยม จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายสวงศ์ และอาศัยอยู่กับนายสวงศ์เรื่อยมาจนกระทั่ง ปี ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๒ กลับมาขอปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท ก่อนที่นางสาวเลี่ยม จะถึงแก่ความตายในปี ๒๕๑๙ และนายสวงศ์ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๓๒ หลังจากนั้นในวันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๓๓ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องคัดค้าน คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายสวงศ์ การที่จำเลยที่ ๑ มายื่นคำร้องขอ แม้จะเป็นกรณีที่แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง แต่ก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง ๑๐ ปี จำเลยที่ ๑ หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ไม่ พิพากษายกคำร้องขอของจำเลยที่ ๑ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๗๓/๒๕๓๘
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ โจทก์ทั้งสี่ต้องใช้ค่าที่ดินพิพาทที่เพิ่มขึ้นให้แก่จำเลยทั้งสอง หรือต้องขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตว่าจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร คำว่า “สุจริต” ตามมาตรา ๑๓๑๐ นั้น มีความหมายว่า ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินโดยไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้ใด แต่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง และเชื่อว่าตนมีสิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้นได้โดยชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๗๓/๒๕๓๘ ซึ่งมีผลถึงที่สุดตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายสวงศ์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นคู่ความกับโจทก์ทั้งสี่ในคดีดังกล่าว จึงผูกพันจำเลยที่ ๑ อันทำให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยทราบอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายสวงศ์ และได้ขออนุญาตนายสวงศ์ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทแล้ว ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริต จำเลยที่ ๒ เป็นภริยาจำเลยที่ ๑ เข้าอยู่อาศัยในบ้านกับจำเลยที่ ๑ ด้วย ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริตและบังคับให้โจทก์ทั้งสี่ รับเอาบ้านแล้วใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้จำเลยทั้งสองไม่ได้ เพราะการที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายสวงศ์นั้น มิได้ทำให้โรงเรือนตกเป็น ส่วนควบของที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖ กรณีจึงไม่อาจที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ วรรคหนึ่ง ได้ดังเช่นที่จำเลยทั้งสองฎีกา ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่อาจอ้างได้ว่านายสวงศ์ และโจทก์ทั้งสี่ประมาทเลินเล่อที่ไม่ห้ามปรามขัดขวางมิให้ จำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านเพิ่มเติมอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ต้องรับเอาบ้านทั้งหมดไว้แล้วใช้ราคาหรือต้องให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทตามราคาในท้องตลาดหากจำเลยทั้งสองต้องใช้จ่ายในการรื้อถอนบ้านไปมากเกินสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ วรรคสอง เพราะสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของที่ดินและผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินจะเกิดขึ้นได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีได้เฉพาะกรณีที่ผู้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินได้กระทำไปโดยสุจริตเท่านั้นเช่นกัน ดังนั้นแม้นายสวงศ์ และโจทก์ทั้งสี่ประมาทเลินเล่อที่ไม่ห้ามปรามขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาทก็ไม่มีผลที่จำเลยทั้งสองจะอ้างเอาประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๓๑๐ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากอสังหาริมทรัพย์ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๑ กำหนดค่าเสียหายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ฎีกา จึงถือว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง การที่จำเลยทั้งสองฎีกาประเด็นนี้อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.