แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 25358 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 7 ไร่ 76 ตารางวา โดยซื้อจากจำเลยที่ 1 ในราคา 40,000 บาท เมื่อปี 2522 ด้วยการส่งมอบการครอบครอง ขณะนั้นที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 1123 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต สงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปี ทางราชการได้เปลี่ยนหลักฐานสำหรับที่ดินพิพาทจาก น.ส.3 ก. เป็นโฉนดที่ดิน ต่อมาจำเลยทั้งสองสมคบกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทสูญหายไป ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 ส่งมอบ น.ส.3 ก. ดังกล่าวแก่โจทก์ขณะซื้อขายที่ดินพิพาทกัน แล้วนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปขอออกใบแทนและรับโฉนดที่ดินมาทำนิติกรรมซื้อขายกันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 25358 ตำบลบ้านหัน กิ่งอำเภอโนนศิลา (บ้านไผ่) จังหวัดขอนแก่น ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และพิพากษาว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ กับให้จำเลยที่ 2 คืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน หากคืนไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินสาขาบ้านไผ่ออกใบแทนให้แก่โจทก์โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และไม่เคยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้ลักลอบซื้อขายที่ดินพิพาทกัน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2522 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 10,000 บาท และสละการครอบครองพร้อมทั้งมอบ น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลยที่ 2 ปี 2527 จำเลยที่ 2 ยืนเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท โดยมอบ น.ส.3 ก. ให้โจทก์ยึดถือไว้และมอบที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 2 ไปชำระเงินแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่คืน น.ส.3 ก. โดยอ้างว่าสูญหายและให้นำเงินอีก 32,000 บาท ไปชำระเป็นค่าดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่า น.ส.3 ก. สูญหาย แล้วนำรายงานประจำวันไปขอออกใบแทนและรับโอนที่ดินพิพาทมา โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่ถึง 10 ปี โดยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนเจตนาครองครอง โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1123 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 25358 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1123 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 7 ไร่ 76 ตารางวา ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2520 ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2539 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 25358 ตำบลบ้านหัน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แทน วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 30,000 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2522 ในราคา 40,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายกันโดยนายเสงี่ยมเป็นผู้เขียน แต่ปัจจุบันนี้สัญญาซื้อขายได้สูญหายไปและในการซื้อขายดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบการครอบครองพร้อมกับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยทำการปลูกมันสำปะหลังและอ้อย แม้โจทก์ไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาส่งศาล และนายเสงี่ยมผู้เขียนบันทึกก็ถึงแก่กรรมแล้วก็ตาม แต่โจทก์มีนายบุญตาเป็นพยานเบิกความว่า นายเสงี่ยมเป็นผู้บันทึกหลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ร้านตัดผมของโจทก์ พยานอยู่ห่างจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ขณะทำบันทึกการซื้อขายที่ดินกันเพียง 10 เมตร น่าจะรู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกหลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทกัน ทั้งโจทก์ได้ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1123 ต่อศาลและรับคืนไปโดยส่งสำเนาภาพถ่ายไว้แทน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1123 ให้โจทก์ไว้จริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสวัสดิ์ นางสมปอง นายเคน นางหล้า นายชาย นายสมควร และนายบุญตา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงและบางคนมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินพิพาทเป็นพยาน ต่างก็เบิกความสอดคล้องต้องกันยืนยันว่าเห็นโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2522 จำเลยที่ 1 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 10,000 บาท ทำสัญญาซื้อขายกันเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองหลังจากเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 โดยการจดทะเบียนดังกล่าวทำได้ด้วยการที่จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สูญหาย แล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) อยู่ที่โจทก์จนถึงวันที่โจทก์นำมาส่งศาลในการพิจารณาคดี จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่นำสืบว่าจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 20,000 บาท และมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้โจทก์ยึดถือไว้และให้โจทก์ครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2527 นั้น จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินมาแสดง คงมีเพียงนายคำผลซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พาจำเลยที่ 2 ไปกู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นพยาน จึงมีน้ำหนักน้อย แม้จำเลยทั้งสองจะมีหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2522 และมีนายบุญถมผู้เขียนสัญญากับนายทองจันทร์ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเป็นพยาน แต่ศาลฎีกาได้ตรวจดูเนื้อกระดาษและสีของหมึกที่ใช้เขียนไม่เก่าสมกับที่ทำขึ้นกว่า 20 ปีแล้ว รายละเอียดของที่ดินพิพาทจะระบุไว้ก็ลอกรายการตำแหน่งที่ดิน และทะเบียนของหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาทั้งหมดเกินกว่าปกติที่ระบุกันแต่เพียงตำแหน่งที่ดินกับเลขที่ของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) กับเลขที่ดินเท่านั้น จึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งนายคำผล นายบุญถม และนายทองจันทร์ ต่างก็เบิกความว่าไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้วโดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน