คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาว่า ดอกเบี้ยจำนวน 81,250 บาท ที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้า เป็นดอกเบี้ยที่ชอบ ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้องหรือนำสืบให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยล่วงหน้าดังกล่าวมาก่อน โดยโจทก์เบิกความเพียงว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าเดินทางและค่าตอบแทนในการที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ฎีกาของโจทก์เป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็ค จำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับไว้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 396,279.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 376,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่หนึ่งจำนวน 53,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2542) ต้องไม่เกิน 4,084.74 บาท ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่สองจำนวน 56,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,620.99 บาท ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่สามจำนวน 55,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,196.80 บาท ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่สี่จำนวน 53,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,788.15 บาท ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ห้าจำนวน 52,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,395.21 บาท ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่หกจำนวน 51,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,017.89 บาท และให้ร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่เจ็ดจำนวน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,656.19 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 800,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นโดยได้นำเอาดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท มารวมไว้ด้วย และจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองจั่น ลงวันที่ล่วงหน้าจำนวน 15 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ภายหลังทำสัญญาโจทก์นำเช็คที่ถึงกำหนดชำระไปเรียกเก็บเงิน แต่ถูกธนาคารตามเช็คทำสัญญาโจทก์นำเช็คที่ถึงกำหนดชำระไปเรียกเก็บเงิน แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังชำระเงินตามเช็ค แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงนำเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งมาฟ้องเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ โดยเห็นว่าหนี้ตามเช็คมีดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่ด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกให้เห็นว่าส่วนไหนเป็นต้นเงินและส่วนไหนเป็นดอกเบี้ยจึงไม่สามารถพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ถูกต้อง
ที่โจทก์ฎีกาว่า ดอกเบี้ยจำนวน 81,250 บาท เป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าสำหรับการผ่อนชำระจำนวน 15 งวด มีผลทำให้ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยเป็นดอกเบี้ยที่ชอบ ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น โจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้องหรือนำสืบให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยล่วงหน้าดังกล่าวมาก่อน โดยโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านเพียงว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าเดินทางและค่าตอบแทนในการที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ในอายุความโดยเห็นว่าหนี้ตามเช็คมีดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่ด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกให้เห็นว่าส่วนไหนเป็นต้นเงินและส่วนไหนเป็นดอกเบี้ยจึงไม่สามารถพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ถูกต้องเป็นการชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองโดยไม่ต้องให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย สำหรับคดีนี้เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็คจำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9.22 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน และเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับได้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ เมื่อคำนวณจากจำนวนเงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ ตามฟ้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินสำหรับเช็คพิพาทฉบับแรกจำนวน 52,198.50 บาท ฉบับที่สองจำนวน 51,063.75 บาท ฉบับที่สาม จำนวน 49,929 บาท ฉบับที่สี่จำนวน 48,794.25 บาท ฉบับที่ห้าจำนวน 47,659.50 บาท ฉบับที่หกจำนวน 46,524.75 บาท และฉบับที่เจ็ดจำนวน 45,390 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 341,559.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 341,559.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 52,198.50 บาท นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2541 ของต้นเงินจำนวน 51,063.75 บาท นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 ของต้นเงินจำนวน 49,929 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2541 ของต้นเงินจำนวน 48,794.25 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 ของต้นเงินจำนวน 47,659.50 บาท นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2541 ของต้นเงินจำนวน 46,524.75 บาท นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2542 ของต้นเงินจำนวน 45,390 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

Share