คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรืออัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. เป็นอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าทั่วไป หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แตกต่างระหว่างลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับลูกค้าทั่วไปด้วยวิธีบวกส่วนต่างเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ทั้งนี้เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป มิใช่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนด “ส่วนต่างที่จะใช้บวก” ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ
ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกันเพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 และ 13
เมื่อต้องมีการคำนวณหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่โดยใช้ดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด จึงต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าชำระรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งไปหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาให้หักเงินดังกล่าวออกไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 243,676.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 231,139.29 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18816 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยรับว่าทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองกับโจทก์ และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 243,676.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 231,139.29 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 18816 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณยอดหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 19 ตุลาคม 2537 และหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ในการ์ดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 977 – 6 ใหม่ทั้งหมด โดยให้คิดดอกเบี้ยทบต้นจากยอดหนี้ที่ค้างชำระทุกวันสิ้นเดือนในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 ต่อปี เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 อันเป็นวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โดยอัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของสินเชื่อ ที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วและที่โจทก์ได้ประกาศต่อไปในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อคำนวณได้ยอดหนี้ที่ค้างชำระจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นจำนวนเท่าใด แล้วให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้จำนวนดังกล่าวโดยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์.บวก 1.25 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของสินเชื่อ ที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วและที่โจทก์จะได้ประกาศต่อไปในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันที่ 27 สิงหาคม 2545 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 (ปัจจุบันเท่ากับ 14.75) ต่อปี ตกลงชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2538 ในวันเดียวกันจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18816 ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 200,000 บาท หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 และประกาศธนาคารโจทก์ที่กำหนด “ส่วนต่างที่จะใช้บวก” เป็นการกำหนดเกินไปจากพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ไม่มีเจตนารมณ์ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนด “ส่วนต่างที่จะใช้บวก” เข้ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรียกเก็บจากลูกค้าได้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 จึงขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ไม่อาจใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ได้กำหนดให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรืออัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. เป็นอัตราสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แตกต่างกันระหว่างลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับลูกค้าทั่วไป ด้วยวิธีการบวกส่วนต่างเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ทั้งนี้เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปมิใช่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนด “ส่วนต่างที่จะใช้บวก” ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับดังที่จำเลยฎีกา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ที่บัญญัติว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ (2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้” ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 และประกาศธนาคารโจทก์ที่กำหนด “ส่วนต่างที่จะใช้บวก” เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) นั้น ชอบแล้ว มิใช่การแปลขยายความดังฎีกาของจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า อัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์. ตามที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอัตราที่เกินกว่าประกาศของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 14.75 ต่อปี เมื่อคิดคำนวณกลับจะได้อัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. เท่ากับร้อยละ 13.5 ต่อปี เกินกว่าประกาศดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. ของโจทก์ในขณะนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยรวมไปกับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 ต่อปี หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์มาตลอดเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 ต่อปี โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าประกาศของโจทก์เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกัน เพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศของโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เท่านั้น เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษรซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่กำหนดเป็นตัวเลข ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 และ 13 และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ต้องบอกกล่าวจำเลยล่วงหน้าตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์. บวก 1.25 ต่อปี ตามตัวอักษรตลอดอายุสัญญา ไม่เกินกว่าอัตราตามประกาศของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์จะต้องคิดคำนวณดอกเบี้ยใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญามาถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จะต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีกระแสรายวันหักออกจากหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อต้องมีการคิดคำนวณหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่โดยใช้ดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด จึงต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าชำระรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง หลังจากวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 อันเป็นวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน ตามใบแจ้งรายการบัญชี STATEMENT และสำเนาใบนำฝากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไปหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาให้หักเงินดังกล่าวออกไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันหลังจากวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 หักออกจากหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีตามวันที่นำเงินเข้า โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อนที่เหลือให้หักชำระหนี้ต้นเงิน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share