แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มรณะในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1และทายาทอื่นต่างยื่นคำร้องขอรับมรดกความ การตั้งผู้รับมรดกความแทนผู้มรณะนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43บัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเหตุสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป หากศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้ารับมรดกความ ก็เท่ากับให้จำเลยที่ 1 เข้าล้มคดีของโจทก์ตามชอบใจ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทายาทอื่นเข้ารับมรดกความแทนโจทก์ จึงเป็นการชอบแล้ว
การแปลคำท้าของคู่ความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันโดยใช้ จ้าง วาน ลักเอาทรัพย์ต่าง ๆ ของโจทก์คิดเป็นราคา 419,632.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนทรัพย์หรือใช้ราคา
จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ลักทรัพย์ของโจทก์
ศาลชั้นต้นสืบตัวโจทก์รวมทั้งพยานอีกหนึ่งปากเสร็จแล้ว โจทก์จำเลยต่างตกลงท้ากันว่า หากในหนังสือโอนกิจการค้าฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2510 ซึ่งนายไซ แซ่จึง ทำโอนกิจการค้าผ้าให้จำเลยที่ 1 มีลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ลงในฐานะผู้รับรองหรือพยานแล้ว ฝ่ายโจทก์ยอมแพ้คดี หากไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ในฐานะดังกล่าว จำเลยยอมแพ้คดี ทั้งสองฝ่ายขอให้ศาลเรียกต้นฉบับเอกสารนั้นจากแผนกสรรพากรอำเภอสามชุก เพื่อพิจารณาดูว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ในช่องพยานหรือผู้รับรองหรือไม่ หากมีลายพิมพ์นิ้วมือในช่องดังกล่าวก็ให้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารนั้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือตัวอย่างของโจทก์ที่ศาลจัดให้โจทก์พิมพ์นิ้วหัวแม่มือทั้งขวาและซ้ายในกระดาษเบอร์ 40 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2512
ครั้นต่อมานายอำเภอสามชุกได้จัดส่งต้นฉบับหนังสือโอนกิจการค้าฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2510 ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งได้นัดพร้อมให้โจทก์จำเลยมาตรวจเอกสารในวันที่ 21 กรกฎาคม 2512 ทั้งสองฝ่ายรับว่าเป็นเอกสารที่ท้ากันโดยถือเอาเป็นข้อแพ้ชนะ จำเลยแถลงว่าลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งพิมพ์ไว้ลอย ๆ โดยไม่มีการเขียนกำกับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของใครใต้ช่องผู้รับรองประมาณหนึ่งเซนติเมตร คือลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำต้องดำเนินการขั้นต่อไป คดีเป็นอันเสร็จสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ตามฟ้องให้โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคา
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ถึงแก่กรรม พร้อมกันนั้นได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกความแทนโจทก์ นายสนชัย มณีเลิศ และนายชิด แซ่จึง คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิรับมรดกความ เพราะผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้รับพินัยกรรมของโจทก์ จึงขอรับมรดกความต่อไป
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายสนชัยและนายชิด ผู้คัดค้าน เป็นผู้ที่เหมาะสมกว่า อนุญาตให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ แล้วศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อแรกจำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 สมควรเป็นผู้รับมรดกความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์สั่งให้นายสนชัยและนายชิดเข้ามารับมรดกความนั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องการตั้งผู้รับมรดกความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเหตุสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 แม้จะอยู่ในฐานะเป็นทายาทของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็จะเข้ามารับมรดกความโดยสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดำเนินคดีต่อไปกับตัวเองได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นมิเท่ากับให้จำเลยที่ 1 เข้าล้มคดีของโจทก์เสียตามชอบใจหรือฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ามารับมรดกความแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว
ส่วนปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องแพ้คดีไปตามคำท้าหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ผู้เป็นมารดา และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตร เป็นเรื่องโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าผ้าชนิดต่าง ๆ ตัวโจทก์เบิกความต่อศาลไว้ว่า นายไซสามีโจทก์ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 1 ได้ตั้งร้านค้าผ้าชื่อร้านเหลียงเซ้งที่ตลาดอำเภอสามชุก นายไซถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อราวปี 2510 ปฏิเสธว่านายไซไม่เคยโอนกิจการค้าผ้าให้จำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ไม่เคยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นพยานในการที่นายไซโอนกิจการค้าให้จำเลยที่ 1 ด้วย จากจุดสำคัญข้อนี้เองทำให้เกิดคำท้าขึ้นระหว่างคู่ความเพื่อพิสูจน์หลักฐานว่าเป็นความจริงสมฝ่ายใด ตัวโจทก์เป็นฝ่ายรับคำท้าเอง โดยได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2512 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2512 ทั้งสองฉบับ ตอนที่โจทก์ตรวจเอกสารแล้วรับว่านายไซได้โอนกิจการการค้าผ้าตามหนังสือของนายไซถึงสมุหบัญชีอำเภอสามชุกลงวันที่ 16 ตุลาคม 2510 จริง เอกสารฉบับดังกล่าวเป็นตัวพิมพ์ดีดมีข้อความรวม 14 บรรทัดตอนท้ายมีลายพิมพ์นิ้วมือของนายไซ และมีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายไซเซ็นชื่อเป็นภาษาจีน ชื่อ นายเจือ แซ่จึง กับเซ็นชื่อภาษาไทยอ่านไม่ออก รวม 2 คน ใต้ลายเซ็นภาษาไทยมีลายพิมพ์นิ้วมือของคนอีกคนหนึ่งพิมพ์กำกับไว้ลอย ๆ ไม่มีข้อความระบุว่าอยู่ในฐานะอะไร เอกสารฉบับนี้ไม่มีช่องสำหรับให้พยานลงชื่อ ถึงกระนั้นก็ตามต้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเจ้าของลายพิมพ์นิ้วมือมีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ในการทำเอกสารขึ้น ไม่ต่างอะไรกับลงชื่อเป็นพยานในเอกสารด้วยคนหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ เพราะไม่ได้ลงไว้ในช่องพยานหรือผู้รับรองนั้น เห็นว่ายังไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์แห่งคำท้า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีคำท้าต่อไปว่า ให้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่าเป็นของโจทก์หรือไม่ทำไม การพิสูจน์จึงเป็นผลขั้นสุดท้ายของคำท้าว่ามุ่งท้ากันอย่างเดียวว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้รับรองหรือพยานหรือไม่เท่านั้น เมื่อไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือตรงตามช่องจำเลยก็ต้องแพ้คดีไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือเอาการลงลายพิมพ์นิ้วมือถูกหรือผิดช่องเป็นสำคัญหาได้ไม่เพราะความมุ่งหมายของคำท้าขึ้นอยู่กับข้อที่ว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้าเป็นทรัพย์ของฝ่ายใด ถ้าเป็นสินค้าที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้นายไซโอนให้จำเลยที่ 1 ไป โจทก์ก็อ้างไม่ขึ้นว่าเป็นของตน ตรงข้ามถ้าโจทก์ไม่รู้เห็นอะไรด้วยเลย สินค้าที่พิพาทก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยแพ้คดี โดยงดไม่ส่งลายพิมพ์นิ้วมือที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่าเป็นของโจทก์ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์นั้น จึงไม่ชอบ เพราะคดียังไม่เป็นที่ยุติแน่นอนว่า เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์หรือไม่ซึ่งผลแห่งการพิสูจน์อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยยุติธรรม จะถือว่าจำเลยต้องแพ้คดียังไม่ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้ศาลชั้นต้นจัดส่งลายพิมพ์นิ้วมือที่โต้แย้งระหว่างโจทก์จำเลยไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ต่อไปตามคำท้าของคู่ความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี