คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก สำหรับการกระทำความผิดตามมาตรา 278 ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้กระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 ส่วนความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคสาม ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก ของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 284, 295, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวนภาวรรณ สหนันทพร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 284 วรรคแรก, 295 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารและฐานทำร้ายร่างกายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำอนาจาร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นตามฎีกาของจำเลยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก ระงับไปแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 ว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมจนเป็นที่พอใจ จึงขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 โจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งอีกต่อไป เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาปรากฏว่ามีคำร้องของโจทก์ร่วมดังกล่าวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์และโจทก์ร่วมรับสำเนาฎีกาของจำเลยแล้วมิได้ยื่นคำแก้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก สำหรับการกระทำความผิดตามมาตรา 278 ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายหรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ส่วนความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคสาม ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก ของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว คงมีปัญหาเพียงว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพื่อล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง แต่การที่จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานนี้อีกต่อไปนับได้ว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด เมื่อจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่พอจะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับตัวเป็นพลเมื่องดีได้ การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และมาตรา 284 วรรคแรก โดยให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ และลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีกกับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share