แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ จำเลยชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีผลเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกร้องเงินที่ชำระไปคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 และตั้งบริษัทจี.เค.แอสเซ็มบลี้ จำกัด เป็นผู้ทำแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าพัสดุชำรุดเสียหายเป็นเงิน 810,912.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 288,365.71 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่า หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความแล้วเพราะเจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีภายในเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระที่พ้นกำหนด 5 ปี
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสอง (1)
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากลูกหนี้ และลูกหนี้ได้ส่งมอบสินค้าตามสัญญาเลขที่ NRG12P – 20(B)87 และตามสัญญาเลขที่ NRE12P – 20(B)87A ซึ่งเจ้าหนี้พบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามสัญญาทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2530 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2540 ลูกหนี้ได้นำเงินมาชำระหนี้เพื่อความชำรุดบกพร่องดังกล่าวแก่เจ้าหนี้จำนวน 10,000 บาท และการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการรับสภาพหนี้ หนี้จึงไม่ขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้บริหารแผนยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้พบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2530 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 เมื่อนับถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้จึงเกินเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง คดีจึงขาดอายุความแล้ว ส่วนการชำระค่าเสียหายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2540 เป็นเวลาภายหลังจากคดีขาดอายุความแล้ว จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวน และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า การที่ลูกหนี้ได้นำเงินมาชำระหนี้บางส่วนแก่เจ้าหนี้จำนวน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2540 เป็นการรับสภาพหนี้ มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 บัญญัติว่า “ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง” หลังจากลูกหนี้ได้ส่งมอบสินค้าตามสัญญาเลขที่ NRG12P -20(B)87 และตามสัญญาเลขที่ NRE12P – 20(B)87A ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้พบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามสัญญาทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2530 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ตามลำดับ เมื่อเจ้าหนี้ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความ การรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ คดีนี้จำเลยชำระหนี้ให้บางส่วนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2540 เป็นการชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้ว จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) การชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วมีผลเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินจำนวน 10,000 บาท ที่ชำระไปคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน