แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มีความหมายชัดแจ้งว่า จะนำบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับในการพิจารณาคดีอาญาได้เฉพาะในกรณีที่ ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาข้อนั้นและให้นำมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้บังคับได้ บทบัญญัติมาตรา 4 วรรคสองและมาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงแห่ง ป.พ.พ. ไม่ใช่บทบัญญัติของ ป.วิ.พ. จึงนำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีอาญาไม่ได้ ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้วให้ศาลยกฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรณีที่ ป.วิ.อ. ได้บัญญัติวิธีพิจารณาเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ และไม่ใช่กรณีที่จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2542 จำเลยทำสัญญากับโจทก์ตกลงเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยรถยนต์ของโจทก์ โดยจำเลยมีหน้าที่หาลูกค้าและเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยส่งมอบให้โจทก์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 ถึงเดือนมกราคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยได้รับมอบกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพร้อมเครื่องหมาย พ.ร.บ. จากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป รวม 13,618 ฉบับ แต่เมื่อจำเลยจำหน่ายได้เงินแล้วกลับไม่ส่งมอบให้โจทก์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยและให้จำเลยคืนกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพร้อมเครื่องหมาย พ.ร.บ. ที่จำเลยยังไม่ได้จำหน่ายและอยู่ในความครอบครองของจำเลยจำนวน 1,035 ฉบับ พร้อมสรรพเอกสารทั้งหมดให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ แต่หลังจากครบกำหนดแล้วในระหว่างเดือนมีนาคม 2543 วันใดไม่ปรากฏชัดทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยทุจริตได้บังอาจเบียดบังเอาทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยทั้งหมดจำนวน 1,522,800 บาท ของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ศาลแขวงพระนครเหนือไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลแขวงพระนครเหนือ และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ไม่รับคดีของโจทก์ไว้พิจารณา ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ขาออายุความจึงมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงจึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 193/17 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่า จะนำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการพิจารณาคดีอาญาได้เฉพาะในกรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาข้อนั้น และให้นำมาใช้บังคับเพียงเท่าที่จะใช้บังคับได้บทบัญญัติมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 193/17 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงนำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีอาญาไม่ได้ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังได้บัญญัติในมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ว่า ถ้าศาลเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้วให้ศาลยกฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติวิธีพิจารณาเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ และไม่ใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน