คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงเจ็ดปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว วางโทษจำคุก 4 ปี นั้น จึงเป็นการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ 357
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนด 1 ปีและให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลดมาตราส่วนโทษให้ด้วยกึ่งหนึ่ง โดยจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งมีราคาสูงถึง 31,000 บาท โดยใช้รถจักรยานยนต์อีกหนึ่งคันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด พาทรัพย์ไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยเฉพาะการลักรถจักรยานยนต์นั้นสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนักและลักษณะของความผิดยังถือเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนและกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมอีกด้วย ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี 6 เดือนเศษ นับว่าอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะและมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอสมควรแล้ว แต่กลับกระทำความผิดดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ทั้งภายหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้เสียหายด้วยแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงเจ็ดปีหกเดือนและปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว วางโทษจำคุก 4 ปี นั้นจึงเป็นการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้เหมาะสมด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share