คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต1ภาค4มิได้เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดานายฉลาด น้อยมหาไวย จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นนายจ้างนายฉลาดโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาค 4จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 นายฉลาดได้ออกปฏิบัติงานตามโครงการของจำเลยที่ 3 ที่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ทำการติดตั้งเสาและยึดโยงพาดสายเสาไฟฟ้าในท้องที่หมู่ที่ 4 นายฉลาดได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ กล่าวคือได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 84-5412 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 บรรทุกคนงานและอุปกรณ์ติดตั้งเสาและยึดโยงพาดสายเสาไฟฟ้ามุ่งหน้าจากกิ่งอำเภอทุ่งตะโกมาทางอำเภอหลังสวนด้วยความเร็วสูง และขับคร่อมเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนส่ายไปมาล้ำเข้าไปในช่องเดินรถอีกช่องหนึ่งพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-0018 ชุมพร ของโจทก์ที่ 4 ซึ่งนายสมบุญ ทองแท้เป็นผู้ขับ แล้วชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4ย-2217กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับโดยมีโจทก์ที่ 3 นั่งมาในรถด้วยในช่องเดินรถของนายสมบุญและโจทก์ที่ 1 ที่ขับสวนมาเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 4ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสส่วนนายฉลาดกับเพื่อนถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 802,297.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นหน่วยงานย่อยของจำเลยที่ 3 รับผิดชอบงานของจำเลยที่ 3 เพียงบางส่วน มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 59,363 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 211,913 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 20,525 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 54,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ แต่เนื่องจากอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสี่ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยในข้อนี้โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3โดยมิได้ระบุว่าจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 3แต่อย่างใด ทั้งจำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ 4 เป็นหน่วยงานย่อยของจำเลยที่ 3 รับผิดชอบงานของจำเลยที่ 3 บางส่วน มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล จำเลยที่ 4 ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 กรณีต้องยกฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 4 เสีย ฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 4ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 198,501 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4

Share