แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้เงินกู้ตามคำพิพากษา. ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้จำเลยได้ขายให้ผู้ร้องขัดทรัพย์แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2511 แต่การโอนขัดข้อง ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง หากจำเลยไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ยึดทรัพย์จำเลยก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีจำเลยดังกล่าว และกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยผลแห่งคำพิพากษาคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ซึ่งถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ก่อนโจทก์ ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อบังคับคดีเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เช่นกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธินั้นๆ แล้ว
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานผู้ร้องและพยานโจทก์และพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์จะอุทธรณ์ขอให้มีการสืบพยานใหม่เท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะตรวจดูได้เพียงพอที่จะชี้ขาดได้แล้วศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะชี้ขาดพิพากษาคดีไปได้เลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240 วรรคแรก
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์คดีนี้ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลย เพื่อบังคับคดีขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26,27/2512 แต่ปรากฏว่าโฉนดของที่ดินที่ยึดมาอยู่ที่ผู้ร้อง ได้ส่งไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13/2512 ซึ่งผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่โจทก์ยึดมาบังคับคดี โจทก์จึงขอศาลหมายเรียกผู้ร้องมาสอบถามและส่งโฉนด ศาลชั้นต้นสอบถามแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้นำโฉนดมารวมในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26, 27/2512 ต่อมาผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลและสั่งว่า สัญญาอันเป็นมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยที่ทำไว้ ความจริงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องจึงมาร้องขัดทรัพย์เป็นคดีนี้ อ้างว่าที่ดินที่โจทก์ยึดเป็นของผู้ร้อง จำเลยขายให้ผู้ร้องตั้งแต่เดือนมกราคม 2511 โดยการหักหนี้กัน จำเลยทำใบมอบอำนาจให้เพื่อไปจัดการโอนที่ดิน แต่ขัดข้องโดยทางหอทะเบียนที่ดินอ้างว่าลายมือชื่อจำเลยไม่เหมือนกับที่เขียนไว้เดิมก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้จัดการโอนที่ดินที่โจทก์นำยึดให้ผู้ร้อง ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องหากไม่จัดการโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวได้ ให้จำเลยชำระเงินราคาที่ขายพร้อมดอกเบี้ย ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2513 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยึดเพื่อขายทอดตลาด ขอให้เพิกถอนการยึด
โจทก์ให้การว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์ และโจทก์ทำการยึดก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีตามที่ผู้ร้องอ้างขณะนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ได้เปลี่ยนมือและจดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องผู้ร้องไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ และไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์ ขอให้ยกคำร้อง
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24
วันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้องตามคำร้องของโจทก์ ผู้ร้องแถลงไม่คัดค้านและรับว่าขณะนี้โฉนดยังเป็นชื่อของจำเลยอยู่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว มีคำสั่งงดสืบพยานผู้ร้องและพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์นำยึดได้ พิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นคุณแก่ผู้ร้อง ย่อมใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรค 2 และผู้ร้องอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนตามคำพิพากษาได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 อยู่แล้ว โจทก์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นให้เป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 หาได้ไม่ และคดีไม่จำต้องสืบพยานกันใหม่ พิพากษากลับ ให้ถอนการยึดที่ดินตามโฉนดพิพาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2355 โดยผลแห่งคำพิพากษาในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้โจทก์ตามสำนวนความแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 43/2513 ซึ่งถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้น ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวก่อนโจทก์ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อบังคับคดีขายทอดตลาดเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เช่นเดียวกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธินั้น ๆ แล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอ เพราะผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้มีการสืบพยานใหม่เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะตรวจดูได้และผู้ร้องได้แถลงรับว่าจำเลยยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โจทก์ยึดเพียงพอที่จะชี้ขาดได้แล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะชี้ขาดพิพากษาคดีไปได้เลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคแรก และคดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน มิใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน