คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10825/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับโทษปรับในกรณีเด็กและเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีการชำระค่าปรับไว้ในมาตรา 145 เป็น 2 กรณี คือ กรณีเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ให้ศาลเปลี่ยนโทษปรับเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย กับกรณีเด็กหรือเยาวชนไม่มีเงินชำระค่าปรับ แต่ประสงค์จะขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องดำเนินการในทางใดได้บ้าง ไม่มีกรณีที่ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนได้ ในทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำความผิดมิใช่เด็กและเยาวชนตาม ป.อ. มาตรา 29 เมื่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไปมาบังคับในกรณีนี้ได้ สำหรับคดีนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ก็ต้องส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนการชำระค่าปรับเพียงประการเดียวตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างฝึกอบรม จำเลยอาจจะขอชำระค่าปรับที่ยังคงเหลือให้เสร็จสิ้นไปได้ ก็เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่จำเลย ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระแทนค่าปรับได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำความผิด จำเลยอายุสิบหกปีเศษ กระทำความผิดที่มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต จึงให้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสาม ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย ให้ลงโทษปรับน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคสอง เป็นจำคุก 25 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ จนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ มีกำหนด 500 วัน แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 ริบของกลาง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแทนค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนการชำระค่าปรับแล้ว จึงไม่อาจออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระค่าปรับได้ ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดจำคุก 12 ปี 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรม สำหรับในโทษที่เป็นค่าปรับศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมมีกำหนด 500 วัน แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี จำเลยไม่ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับแล้ว คดีถึงที่สุด
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแทนค่าปรับได้หรือไม่ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้บัญญัติในกรณีเด็กและเยาวชนต้องโทษปรับในมาตรา 145 ไว้ว่า “ในกรณีที่เด็กและเยาวชนต้องโทษไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าเด็กและเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กและเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี หรือในกรณีที่เด็กและเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแทน…” เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ได้บัญญัติกรณีเด็กและเยาวชนต้องโทษปรับไว้แต่ไม่มีการชำระค่าปรับเป็น 2 กรณี คือ กรณีเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ให้ศาลเปลี่ยนโทษปรับเป็นส่งฝึกอบรมภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย กับกรณีเด็กหรือเยาวชนไม่มีเงินชำระค่าปรับ แต่ประสงค์จะขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องดำเนินการในทางใดได้บ้าง ไม่มีกรณีที่ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนได้ ในทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำความผิดมิใช่เด็กและเยาวชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 เมื่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไปมาบังคับในกรณีนี้ได้ สำหรับคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ก็ต้องส่งจำเลยฝึกอบรมแทนการชำระค่าปรับเพียงประการเดียวตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างฝึกอบรม จำเลยอาจจะขอชำระค่าปรับที่ยังคงเหลือให้เสร็จสิ้นไป ก็เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่จำเลย ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระแทนค่าปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share