คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ส. เป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และมาตรา 30 และหาก ส. ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของ ส. ย่อมมีอำนาจจัดการแทน ส. ได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ใน มาตรา 5 (2) แห่ง ป.วิ.อ. ว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชาย ผู้เสียหาย โดยเอารถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ราคา 600,000 บาท นาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ ราคา 277,560 บาท ปากกายี่ห้อมองบลังค์ ราคา 7,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า ราคา 18,900 บาท รวมราคาทรัพย์ 903,460 บาท ของนายสมชายโดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกแล้วจับตัวให้นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยทั้งห้ากับพวกอันเป็นการข่มขืนใจนายสมชายให้กระทำการใด จำยอมต่อสิ่งใดโดยต้องจำยอมไปกับจำเลยทั้งห้ากับพวก ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนนายสมชายต้องกระทำการและจำยอมเข้าไปในรถยนต์และนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยทั้งห้ากับพวก ซึ่งการประทุษร้ายดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป เพื่อยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ เพื่อปกปิดการกระทำความผิดและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้รถยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด เพื่อพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม และขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ สำหรับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของนายสมชายนั้น พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้เป็นของกลางและคืนให้แก่ผู้แทนของนายสมชายไปแล้ว เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 340, 340 ตรี, 83 กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ นาฬิกาข้อมือ ปากกา และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเงิน 303,460 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอังคณา ภริยาของนายสมชายและบุตรของนายสมชายได้แก่ นางสาวสุดปรารถนา นางสาวประทับจิต นางสาวกอปร์กุศล และนางสาวครองธรรม โดยนางอังคณายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยเรียกนางอังคณาเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 นางสาวสุดปรารถนา เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 นางสาวประทับจิต เป็นโจทก์ร่วมที่ 3 นางสาวกอปร์กุศล เป็นโจทก์ร่วมที่ 4 และนางสาวครองธรรมโดยนางอังคณา เป็นโจทก์ร่วมที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งห้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย กับให้ยกคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้งห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสมชาย ประกอบอาชีพทนายความและเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยมีสำนักงานทนายความตั้งอยู่เลขที่ 24/157 ซอยรัชดาภิเษก 32 หรือซอยอาภาภิรมย์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ก่อนเกิดเหตุ นายสมชายเคยช่วยเหลือผู้ต้องหาและเป็นทนายความให้แก่จำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหลายคดี ต่อมาวันเกิดเหตุ วันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 นาฬิกา นายสมชายเพียงลำพังได้ขับรถเก๋งส่วนตัว ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีเขียว หมายเลขทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ออกจากโรงแรมชาลีน่าในซอยลาดพร้าว 122 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งหน้าไปพักค้างคืนที่บ้านน้องชายของเพื่อนในหมู่บ้านสวนสนซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างทางขณะที่นายสมชายขับรถไปจอดริมถนนบริเวหน้าร้านอาหารแม่ลาปลาเผา สาขารามคำแหง มีชายคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้กำลังบังคับพานายสมชายขึ้นรถยนต์ของคนร้ายโดยนายสมชายหายตัวไปจนกระทั่งบัดนี้ ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2547 เวลากลางวัน มีผู้พบรถยนต์ของนายสมชายถูกนำไปจอดทิ้งไว้ที่ถนนกำแพงเพชร 2 หลังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมีการกล่าวหาจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นคนร้ายก่อเหตุร้ายแก่นายสมชาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายและโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายสมชายเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง นายสมชายจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 และมาตรา 30 และหากนายสมชายไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของนายสมชายย่อมมีอำนาจจัดการแทนนายสมชายได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ในมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ในข้อนี้เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชายไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจนายสมชายให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้ายนายสมชาย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่านายสมชายเสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า นายสมชายถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้นายสมชายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่านายสมชายเป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของนายสมชายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสมชายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ว่า นางอังคณา ภริยาของนายสมชายไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางอังคณาโจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อโจทก์ร่วมทั้งห้าไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มาตั้งแต่แรก โจทก์ร่วมทั้งห้าย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในประเด็นข้ออื่นอีก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ โจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าด้วยการนำสืบแสดงพยานหลักฐานเป็นสามประการใหญ่ ๆ โดยประการแรกโจทก์นำสืบถึงมูลเหตุชักจูงใจในการกระทำความผิด ประการที่สอง โจทก์นำพยานบุคคลซึ่งเป็นประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมมาเบิกความถึงพฤติการณ์ของคนร้าย และประการที่สาม โจทก์นำข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้ามาเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยข้อนำสืบของโจทก์ในประการต่างๆ เป็นลำดับไปดังนี้
ประการแรก โจทก์นำสืบว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันจับกุมนายมะกะตา นายสุกรี นายอับดุลเลาะห์ นายมะนาเซ และนายซูดีรือมัน รวม 5 คน เป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ฐานร่วมกันเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน ร่วมกันเผาโรงเรียนและร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจนำผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจภูธรตันหยงแล้วบีบบังคับให้กลุ่มผู้ต้องหาให้การรับสารภาพด้วยการทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆ โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่งที่ร่วมทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา ส่วนจำเลยที่ 5 ได้รับการแต่งตั้งให้ร่วมเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวตามสำเนาคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไปควบคุมตัวไว้ที่กองปราบปรามและโรงเรียนพลตำรวจบางเขน กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองปราบปรามได้พูดจาข่มขู่ผู้ต้องหาบางคนไม่ให้กลับคำให้การ นายสมชายในฐานะที่เป็นทนายความและเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมได้ทราบเรื่องการทำร้ายร่างกายและข่มขู่กลุ่มผู้ต้องหาจึงเดินทางไปเยี่ยมและสอบถามข้อเท็จจริงจากกลุ่มผู้ต้องหาที่สถานควบคุมตัวทั้งสองแห่ง นายสมชายรับฟังข้อมูลและพิจารณาสภาพเนื้อตัวร่างกายของกลุ่มผู้ต้องหาแล้วเชื่อว่ากลุ่มผู้ต้องหาถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและข่มขู่เพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพจริง นายสมชายจึงเข้าช่วยเหลือด้วยการทำหนังสือให้กลุ่มผู้ต้องหาลงชื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผลจากการกระทำของนายสมชายดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เกิดความไม่พอใจจึงติดต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ให้ร่วมมือกันก่อเหตุร้ายแก่นายสมชายเป็นคดีนี้ เห็นว่า แม้การนำสืบของโจทก์ข้างต้นโจทก์มีนายสุกรี นายอับดุลเลาะห์ นายมานะเซ และนายซูดีรือมัน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายร่างกายและบังคับพยานให้รับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นผู้พูดจาข่มขู่นายสุกรีก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์เนื้อความตามสำเนาหนังสือขอความเป็นธรรม แล้ว ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่านายสมชายซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดทำหนังสือทั้งสองฉบับได้ร้องเรียนระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 5 ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำร้ายร่างกายและข่มขู่ผู้ต้องหาแต่อย่างใด นอกจากนี้หากพิจารณาหนังสือทั้งสองฉบับโดยถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 ซึ่งไม่รู้จักและไม่สนิทสนมคุ้นเคยกับนายสมชายย่อมไม่มีโอกาสทราบความจริงว่านายสมชายเป็นผู้ดำเนินการจัดทำหนังสือร้องเรียนให้แก่ผู้ต้องหาเนื่องจากนายสมชายไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือ อีกทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 5 ก็ไม่ได้รับผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจากการกระทำของนายสมชายไม่ว่าในประการใด ๆ โดยไม่เคยถูกสอบสวนลงโทษทางวินัยและไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและข่มขู่นายสุกรีกับพวก แม้นายสมชายไม่เคยมีเหตุขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับผู้ใดดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่วินิจฉัยมาไม่บ่งชี้ว่าการกระทำของนายสมชายก่อให้เกิดความเสียหายหรือสร้างผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังนั้น ข้อที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 มีมูลเหตุชักจูงใจที่ต้องกำจัดนายสมชายโดยร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อเหตุร้ายเป็นคดีนี้ จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีเหตุผลสนับสนุนให้น่าเชื่อถือ
ประการที่สอง ในส่วนพยานบุคคลของโจทก์นั้น โจทก์มีนางสาวฉวีวรรณ นายอดิเรก นางสาวกมลทิพย์ นางสาวสุนันท์ และนายมนตรี เป็นพยานเบิกความได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ พยานทั้งห้าเดินไปตามทางเท้าริมถนนรามคำแหงเพื่อกลับที่พัก ขณะพยานทั้งห้าเดินผ่านหน้าร้านอาหารแม่ลาปลาเผา สาขารามคำแหงไปถึงบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 2367 ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าของบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด พยานทั้งห้าเห็นรถเก๋ง 2 คัน จอดอยู่ริมถนนชิดทางเท้าโดยจอดต่อท้ายกันในระยะห่างประมาณ 1 ฟุต รถคันแรกเป็นรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้า สีเขียว ส่วนคันหลังซึ่งเปิดไฟกระพริบเป็นรถเก๋งสีทึบ ติดฟิล์มกรองแสงมืด และมีขนาดใหญ่กว่ารถเก๋งคันแรกในช่วงที่นางสาวฉวีวรรณเดินผ่านรถคันหลังไปจนถึงรถคันแรกได้เห็นนายสมชายเดินออกจากรถคันแรกไปยังรถคันหลัง พยานทั้งห้าไม่ได้สนใจเพราะไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรง แต่เมื่อพยานทั้งห้าเดินผ่านรถทั้งสองคันไปได้ประมาณ 30 ถึง 50 เมตร พยานทั้งห้าได้ยินเสียงผู้ชายร้องให้ปล่อยจึงหันกลับไปดูก็เห็นชายคนร้าย 4 หรือ 5 คน ยืนอยู่ที่รถคันหลัง โดยคนร้ายคนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะเถิก สวมเสื้อยืดสีขาวอยู่ข้างในและสวมเสื้อแจ็กเกตสีดำทับอยู่ข้างนอกใช้มือผลักดันนายสมชายให้เข้าไปในรถคันหลังทางประตูหลังด้านซ้าย นายสมชายมีท่าทางขัดขืนแต่สู้แรงไม่ไหวจึงถูกดันเข้าไปในรถ จากนั้นคนร้ายปิดประตูรถคันหลังโดยมีคนร้ายอีกคนหนึ่งขับรถของนายสมชายมุ่งหน้าไปทางแยกลำสาลี ส่วนรถคันหลังไปเลี้ยวกลับรถที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ต่อมาประมาณ 2 ถึง 3 วัน พยานทั้งห้าได้ทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่านายสมชายซึ่งเป็นทนายความได้ถูกลักพาตัวไปจากบริเวณที่เกิดเหตุ พยานทั้งห้าเชื่อว่าเหตุการณ์ที่พบเห็นในคืนเกิดเหตุน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายสมชายจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวพยานทั้งห้าไปสอบปากคำ โดยนางสาวฉวีวรรณและนายอดิเรกให้การตามบันทึกคำให้การของพยาน ตามลำดับว่าคนร้ายที่ผลักดันนายสมชายมีรูปร่างลักษณะคล้ายจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายเสี่ยน พนักงานรักษาความปลอดภัยของบ้านเลขที่ 2367 เป็นพยานเบิกความอีกปากหนึ่งมีใจความว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ ขณะพยานกำลังปฏิบัติหน้าที่ พยานได้ยินเสียงรถเบรกผิดปกติซึ่งน่าจะเป็นการชนท้ายกัน พยานลุกขึ้นไปชะโงกดูเห็นรถเก๋ง 2 คัน จอดอยู่บริเวณหน้าบ้านที่พยานปฏิบัติหน้าที่โดยมีผู้ชาย 3 ถึง 4 คน เดินอยู่ที่รถคันหลัง ต่อมาประมาณ 10 นาที พยานได้ยินเสียงผู้หญิงร้องว๊ายจึงลุกขึ้นไปดูอีกครั้ง เห็นรถคันหลังเปิดประตูหลังด้านซ้ายและมีการยื้อยุดฉุดกระชากกัน ครู่หนึ่งรถทั้งสองคันแล่นออกไปจากที่เกิดเหตุมุ่งหน้าไปทางแยกลำสาลี หลังเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจมาพบและสอบถาม โดยในชั้นสอบสวนพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าคนที่ผลักมีรูปร่างลักษณะคล้ายจำเลยที่ 1 ส่วนคนที่ขับรถคันหน้าออกไปมีลักษณะคล้ายจำเลยที่ 2 เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้ง 6 ปากดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโดยละเอียดแล้วเห็นได้ว่าพยานทุกปากไม่สามารถมองเห็นหรือจดจำหน้าตาของคนร้ายได้ ทั้งไม่ยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นคนร้าย โดยเหตุที่ประจักษ์พยานไม่อาจจดจำคนร้ายได้ก็น่าจะเนื่องมาจากพยานเห็นคนร้ายแต่เพียงด้านข้างในระยะไกลในเวลากลางคืนและคนร้ายลงมือก่อเหตุร้ายด้วยความรวดเร็วว่องไวใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ตามคำยืนยันของพยานโจทก์ปากนางสาวฉวีวรรณ นายอดิเรกและนางสาวกมลทิพย์ ประกอบกับพยานไม่ได้ให้ความสนใจเพราะไม่คิดว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นและพยานไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักคนร้ายมาก่อน ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์พยานโจทก์เบิกความต่อศาลจึงนับว่าสมเหตุสมผลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่ส่อไปในทางเบิกความเข้าข้างหรือช่วยเหลือจำเลยทั้งห้าให้หลุดพ้นจากความผิด ที่โจทก์ฎีกาว่า ในชั้นสอบสวนนางสาวฉวีวรรณพยานโจทก์ให้การอย่างละเอียดโดยระบุตำหนิรูปพรรณและการแต่งกายของคนร้ายไว้ชัด ทั้งเมื่อดูภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 1 คล้ายคนร้ายที่ผลักนายสมชาย ส่วนนายอดิเรกเมื่อได้ดูภาพถ่ายและวีดิทัศน์การค้นบ้านจำเลยที่ 1 แล้ว ให้การว่าจำเลยที่ 1 คล้ายคนร้ายที่ผลักนายสมชาย คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสองปากตามบันทึกคำให้การของพยาน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นศาลโดยรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายนั้น เห็นว่า คำเบิกความของพยานในชั้นศาลถือเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดหรือเป็นพยานชั้นที่หนึ่งเพราะเป็นการสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าศาลและคู่ความทุกฝ่าย ทั้งเปิดโอกาสให้คู่ความค้นหาและพิสูจน์ความจริงจากพยานได้อย่างเต็มที่ในทุกแง่มุม ส่วนคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนถือเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นพยานชั้นที่สองเพราะเป็นการกระทำลับหลังจำเลย โดยจำเลยไม่มีโอกาสรับรู้หรือโต้แย้งคัดค้านได้ สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนของนางสาวฉวีวรรณตามบันทึกคำให้การของพยานนั้น แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวฉวีวรรณให้การรวม 3 ครั้ง โดยกล่าวถึงจำเลยที่ 1 ทุกครั้งดังที่โจทก์ฎีกา แต่นางสาวฉวีวรรณให้การแต่เพียงว่าคนร้ายที่ผลักนายสมชายมีรูปร่างคล้ายจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการยืนยันมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 คือคนร้ายที่พยานเห็น ประกอบกับนางสาวฉวีวรรณเบิกความในชั้นศาลว่าพนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 เพียงภาพเดียวมาให้พยานดู ดังนี้ การที่นางสาวฉวีวรรณชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 1 และให้การว่าจำเลยที่ 1 คล้ายคนร้ายที่ผลักนายสมชายจึงส่อไปในลักษณะที่เกิดจากการชักจูงและชี้นำของพนักงานสอบสวน คำให้การของนางสาวฉวีวรรณในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงมีพิรุธเป็นที่น่าสงสัยไม่อาจรับฟังเป็นความจริงให้สนิทใจได้ ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของนายอดิเรกตามบันทึกคำให้การของพยานนั้น นอกจากจะขัดแย้งกับถ้อยคำของพยานในชั้นศาลที่เบิกความว่า พยานไม่สามารถจดจำคนร้ายได้เพราะเหตุเกิดขึ้นรวดเร็วในที่มืดและพยานไม่ได้สังเกตแล้ว พยานยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนหลายครั้งโดยมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกันเพราะแล้วแต่การชี้แนะของพนักงานสอบสวน คำให้การในชั้นสอบสวนของนายอดิเรกที่กล่าวพาดพิงถึงจำเลยที่ 1 จึงขาดความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับคำให้การของนางสาวฉวีวรรณ และเนื่องจากนายเสี่ยนเป็นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไว้ในชั้นสอบสวน กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยไปในคราวเดียวกันนี้ว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของนายเสี่ยนตามบันทึกคำให้การของพยานมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นสอบสวนนายเสี่ยนให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้การว่า คนร้ายที่ผลักชายอีกคนหนึ่งเข้าไปในรถเป็นผู้ชายรูปร่างล่ำสันสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ผิวขาว ผมสั้นรองทรง อายุ 40 ปีเศษ แต่พยานจำหน้าตาของชายคนร้ายไม่ได้ ส่วนครั้งที่สอง นายเสี่ยนได้ดูภาพวีดิทัศน์การตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 แล้วให้การว่าชายคนร้ายที่ผลักคนเข้าไปในรถมีรูปร่างสูงใหญ่ลักษณะคล้ายจำเลยที่ 1 แต่พยานไม่เห็นหน้าคนร้ายคนนี้ เห็นว่า คำให้การของนายเสี่ยนทั้งสองครั้งมีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับคำให้การของนางสาวฉวีวรรณ กล่าวคือ พยานไม่ได้ให้การยืนยันมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 คือคนร้ายที่พยานเห็น ประกอบกับในชั้นศาล นายเสี่ยนเบิกความแต่เพียงว่าพยานเห็นคนร้าย 3 ถึง 4 คน เดินอยู่ที่รถคันหลัง จากนั้นมีการยื้อยุดฉุดกระชากกันโดยมิได้กล่าวถึงรูปร่างลักษณะของคนร้ายแต่ประการใด คำให้การในชั้นสอบสวนของนายเสี่ยนจึงไม่อาจรับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ได้ ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ถ้อยคำของพยานโจทก์ปากนางสาวฉวีวรรณ นายอดิเรกและนายเสี่ยนมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมอยู่ในกลุ่มคนร้ายด้วยนั้น เห็นว่า ถ้อยคำของพยานทั้งสามปากที่โจทก์อ้างถึง ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่พยานทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามที่พยานเบิกความต่อศาล ทั้งเมื่อพิจารณาคำให้การของนางสาวฉวีวรรณตามบันทึกคำให้การของพยาน แล้วเห็นได้ว่าพยานให้การสับสนรับฟังเอาแน่นอนไม่ได้ โดยในการให้การครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 พยานให้การว่าพยานไม่สามารถจดจำตำหนิรูปพรรณของคนร้ายอื่นนอกจากคนร้ายที่ผลักนายสมชายได้ แต่ในการให้การครั้งที่สองเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2547 พยานให้การว่า คนร้ายที่ขับรถของนายสมชายไปมีลักษณะคล้ายคลึงกับจำเลยที่ 4 ส่วนในการให้การครั้งที่สามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 พยานกลับให้การไปอีกทางหนึ่งว่า คนร้ายที่ขับรถของนายสมชายไปมีลักษณะทรงผมและรูปร่างคล้ายกับจำเลยที่ 2 เมื่อคำให้การของนางสาวฉวีวรรณขัดแย้งกันเองเป็นพิรุธ ส่อแสดงถึงความไม่แน่ใจของพยาน คดีจึงไม่อาจรับฟังคำให้การของนางสาวฉวีวรรณในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้สำหรับคำให้การของนายอดิเรก นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพยานให้การรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 พยานให้การว่าพยานไม่แน่ใจในตำหนิรูปพรรณของคนร้ายอื่นนอกจากคนร้ายที่ผลักนายสมชาย ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 พยานให้การหลังจากดูภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า พยานไม่สามารถจำหน้าได้ ส่วนครั้งที่สามเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 พยานให้การหลังจากดูภาพวีดิทัศน์การตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกลุ่มบุคคลที่ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถของนายสมชายไป เห็นว่า การให้การของพยานในครั้งแรกและครั้งที่สอง พยานไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุ แต่ในการให้การครั้งที่สาม พยานกลับให้การว่า พยานจดจำจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุได้โดยปราศจากเหตุผลสนับสนุน นับเป็นข้อพิรุธ ประกอบกับพยานเบิกความต่อศาลโดยตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 พยานให้การไม่ตรงกับความประสงค์ของพนักงานสอบสวน พยานจึงถูกนำตัวไปสอบปากคำอีกครั้งเป็นครั้งที่สามซึ่งการที่นายอดิเรกพยานโจทก์เบิกความให้ข้อเท็จจริงเช่นนี้ ย่อมถือเป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าความจริงแล้วพยานไม่สามารถจดจำคนร้ายและไม่เห็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุตรงตามที่พยานเบิกความต่อศาล คำให้การในชั้นสอบสวนของนายอดิเรกที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ต่อไปในส่วนคำให้การของนายเสี่ยนตามบันทึกคำให้การของพยาน ข้อเท็จจริงได้ความว่าพยานให้การไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2547 พยานให้การว่าพยานจำตำหนิรูปพรรณของคนร้ายที่ผลักนายสมชายได้เพียงคนเดียว ส่วนคนร้ายอื่นพยานจำไม่ได้เลย แต่ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 พยานให้การหลังจากดูภาพวีดิทัศน์การตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า คนร้ายที่ขับรถของนายสมชายไปมีลักษณะคล้ายกับจำเลยที่ 2 เห็นว่า ในชั้นศาล นายเสี่ยนมิได้เบิกความกล่าวถึงตำหนิรูปพรรณของคนร้ายที่ขับรถนายสมชายไปซึ่งขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนอย่างเห็นได้ชัด แม้นายเสี่ยนให้เหตุผลไว้ในคำให้การชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 มีลักษณะพิเศษจำได้ง่ายเพราะเป็นคนจีนผิวขาว แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะความเป็นคนจีนผิวขาวเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในบุคคลทั่ว ๆ ไป มิใช่ลักษณะพิเศษที่หมายถึงจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเจาะจง คำให้การในชั้นสอบสวนของนายเสี่ยนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ในกลุ่มคนร้าย สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น นอกจากประจักษ์พยานโจทก์ทั้ง 6 ปาก จะมิได้เบิกความกล่าวถึงจำเลยที่ 5 แล้ว ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวก็ไม่เคยให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 5 แต่ประการใด ต่อไปในส่วนพยานบุคคลของโจทก์ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมนั้น โจทก์มีพันตำรวจตรีทินกร ผู้ร่วมสืบสวนคดีนี้ เป็นพยานเบิกความได้ความว่า หลังเกิดเหตุร้ายแก่นายสมชายผู้บังคับบัญชาสั่งให้มีการระดมพลและเรียกบรรดาเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาลมาช่วยกันสืบสวนหาเบาะแสคนร้าย โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้ข้อมูลมาว่า พันตำรวจโทชาญชัย สารวัตรประจำกองปราบปรามเคยเล่าเรื่องให้พันตำรวจเอกทวี ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของตนฟังว่า มีกลุ่มบุคคลที่รู้จักกับพันตำรวจโทชาญชัยไปรวมตัวกันที่กองปราบปราม พันตำรวจโทชาญชัยสอบถามกลุ่มบุคคลนั้นถึงจุดประสงค์ที่มารวมตัวกันก็ได้ความว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะไปลักพาตัวทนายโจร ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้พันตำรวจโทวรรณพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามนำไปแจ้งให้พลตำรวจตรีกฤษฎา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทราบ และนอกจากนี้ พันตำรวจเอกวีระศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ได้นำรายชื่อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชายจำนวน 14 คน ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 รวมอยู่ด้วยไปมอบให้แก่พลตำรวจตรีกฤษฎาและต่อมาพลตำรวจตรีกฤษฎาสั่งการให้พยานร่วมสืบสวนด้วยการอ่านข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยดังกล่าวเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวถึงกลุ่มบุคคลซึ่งไปรวมตัวกันที่กองปราบปรามเพื่อก่อเหตุร้ายแก่นายสมชายนั้น นอกจากจะไม่มีการระบุยืนยันว่า จำเลยทั้งห้าร่วมอยู่ในกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้นำพันตำรวจโทชาญชัย พันตำรวจโทวรรณพงษ์ และพลตำรวจตรีกฤษฎามาเบิกความสนับสนุนข้อมูลตามคำเบิกความของพันตำรวจตรีทินกรให้น่าเชื่อถือ พยานบุคคลซึ่งเป็นพยานแวดล้อมในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมของโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ คดีจึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ในลำดับต่อไป
ประการที่สาม มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยทั้งห้าได้หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งห้ารับราชการตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 ช่วยราชการอยู่ที่กองปราบปรามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1337 xxxx และ 0 6382 xxxx โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 6382 xxxx จดทะเบียนในนามของนายจตุรงค์ จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน กองปราบปราม ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1889 xxxx จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับหมู่กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1315 xxxx จำเลยที่ 4 เป็นผู้บังคับหมู่ กองปราบปราม ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1684 xxxx และจำเลยที่ 5 เป็นรองผู้กำกับการ 4 กองปราบปราม ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 26567 xxxx และ 0 1378 xxxx โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1378 xxxx จดทะเบียนในนามของนายพิเชษฐ์ สำหรับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าและพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าซึ่งหมายถึงตำแหน่งหรือสถานที่ที่จำเลยทั้งห้าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น โจทก์นำสืบเน้นไปที่วันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โดยมีพันตำรวจตรีทินกรเป็นพยานเบิกความได้ความว่าหลังจากพยานได้รับคำสั่งให้ร่วมสืบสวนพยานตรวจสอบพบว่าในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งห้าได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละคนโทรติดต่อกันโดยตลอดตั้งแต่เช้าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ไปจนถึงช่วงเกิดเหตุเวลา 20.30 นาฬิกา ถึงเวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดยเมื่อพยานนำข้อมูลและพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมชายและสถานที่ต่าง ๆ ที่นายสมชายไปทำธุระทั้งวันจนถึงเวลาที่เกิดเหตุตามที่ได้ความจากการสืบสวนสอบสวนแล้วปรากฏว่าพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้ามีลักษณะเป็นการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของนายสมชายไปตลอดตามแผนผังแสดงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 110 ซึ่งแผนผังที่พยานจัดทำดังกล่าว เป็นไปตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 111 จ. 114 และ จ. 115 โดยข้อมูลตามเอกสารหมาย จ. 111 เป็นข้อมูลถูกต้องแท้จริงที่พลตำรวจโทบุญญฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประสานขอความร่วมมือและได้รับมาจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ส่วนข้อมูลตามเอกสารหมาย จ. 114 และ จ. 115 เป็นข้อมูลที่พนักงานสอบสวนหมายเรียกมาจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด ตามลำดับ โดยมีนายวิศรุต ผู้ชำนาญการด้านกฎหมายของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ลงนามรับรองความถูกต้องของเอกสารทั้งสองฉบับ และเมื่อพยานได้รับข้อมูลและพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พยานกับพลตำรวจโทบุญญฤทธิ์ พลตำรวจตรีกฤษฎาและพลตำรวจตรีเรวัต ซึ่งควบคุมการปฏิบัติการสอบสวน ได้ร่วมกันจัดทำแผนผังแสดงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 110 โดยมีนายสุรจิต ผู้ชำนาญการพิเศษจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตรวจสอบและลงนามรับรองว่าการคำนวณพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าที่พยานจัดทำขึ้นเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมคบคิดวางแผนและร่วมกันก่อเหตุร้ายแก่นายสมชายในวันเกิดเหตุ เห็นว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าในวันเกิดเหตุก็ดีและพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้าในวันเกิดเหตุก็ดีล้วนแต่เป็นข้อมูลที่พันตำรวจตรีทินกรพยานโจทก์มิได้บันทึกไว้ด้วยตัวเองหรือรู้เห็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้งห้ามาด้วยตัวเองโดยตรง แต่เป็นกรณีที่พันตำรวจตรีทินกรได้รับข้อมูลมาจากบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นอีกทอดหนึ่ง พยานเอกสารของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่โจทก์มีภาระต้องนำสืบให้กระจ่างว่า พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่แสดงข้อมูลถูกต้องแท้จริงและมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 111 ซึ่งพันตำรวจตรีทินกรอ้างว่าเป็นข้อมูลถูกต้องแท้จริงที่พลตำรวจโทบุญญฤทธิ์ได้รับมาจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) แล้ว เห็นได้ว่า เอกสารฉบับนี้มิใช่ต้นฉบับเอกสาร แต่เป็นสำเนาเอกสารที่ถ่ายเอกสารมาโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ลงนามรับรองว่าถูกต้อง ประกอบกับโจทก์มิได้นำเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวและพลตำรวจโทบุญญฤทธิ์ผู้ได้รับเอกสารจากบริษัทดังกล่าวมาเป็นพยานเบิกความยืนยันความถูกต้องของเอกสารและข้อมูลตามเอกสารแต่อย่างใด พยานเอกสารของโจทก์ฉบับนี้จึงมีข้อพิรุธบกพร่อง สำหรับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 114 และ จ. 115 นั้น เห็นว่า แม้เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารที่มีนายวิศรุต ผู้ชำนาญการด้านกฎหมายของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ลงนามรับรองความถูกต้องก็ตาม แต่นายวิศรุตเป็นพยานโจทก์เบิกความยอมรับว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารและไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัดทำเอกสาร อีกทั้งพยานไม่เคยเห็นต้นฉบับเอกสารและไม่ทราบว่าข้อมูลตามสำเนาเอกสารมีเนื้อหาที่ถูกต้องแท้จริงและตรงตามต้นฉบับเอกสารหรือไม่ เมื่อเอกสารหมาย จ. 111 เป็นสำเนาเอกสารที่ไม่มีผู้รับรองความถูกต้อง ส่วนเอกสารหมาย จ. 114 และ จ. 115 เป็นสำเนาเอกสารที่ผู้รับรองไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดทำและไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อมูลและพิกัดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เอกสารหมาย จ. 111 จ. 114 และ จ. 115 ที่โจทก์นำเสนอต่อศาลจึงเป็นพยานเอกสารที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง กรณีย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่โจทก์ฎีกาได้ และเป็นผลให้แผนผังแสดงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ. 110 ซึ่งพันตำรวจตรีทินกรจัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลตามเอกสารทั้งสามฉบับอยู่ในสภาพเป็นพยานหลักฐานที่ขาดน้ำหนักและไม่น่าเชื่อถือไปโดยปริยาย ที่โจทก์ฎีกาต่อไปทำนองว่าข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่พลตำรวจตรีเรวัตขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันเป็นคนร้าย อีกทั้งในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งห้าได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรติดต่อกันถึง 75 ครั้ง นับว่ามากผิดปกติส่อพิรุธว่าจำเลยทั้งห้ามีการสะกดรอยตามนายสมชายไปตลอดนั้น เห็นว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสำเนาเอกสารที่ถ่ายเอกสารมาโดยไม่มีผู้ใดลงนามรับรองความถูกต้อง ทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้จัดทำเอกสารหรือรู้ข้อความในเอกสารมาเบิกความเป็นพยาน จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งห้าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรติดต่อกันในวันเกิดเหตุเป็นจำนวนมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อเหตุร้ายนั้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานผู้ใดรู้เห็นหรือยืนยันว่าวันเกิดเหตุจำเลยทั้งห้าร่วมกันสะกดรอยติดตามนายสมชายไปตลอดตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาที่เกิดเหตุ ประกอบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่บุคคลซึ่งมิใช่เจ้าของสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย อีกทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อสื่อสารถึงกันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการคบคิดเพื่อกระทำความผิดตามฟ้อง ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังเป็นความจริงให้มั่นคงได้ และนอกจากข้อนำสืบของโจทก์ในสาระสำคัญทั้งสามประการที่กล่าวถึงข้างต้นจะไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้แล้ว ข้อนำสืบของโจทก์ในประเด็นปลีกย่อยก็ไม่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับการปล้นทรัพย์นายสมชายและการหายตัวไปของนายสมชาย ดังจะเห็นได้จากเจ้าพนักงานตำรวจไม่พบว่าทรัพย์สินของนายสมชายอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งห้าหรือจำเลยทั้งห้ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในประการใด อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์รถยนต์ของนายสมชายก็ไม่ปรากฏว่าพบรอยลายนิ้วมือ รอยฝ่ามือ เส้นผม เส้นขนและโลหิตของจำเลยทั้งห้าติดอยู่หรือตกอยู่ที่รถยนต์ของนายสมชายแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่วินิจฉัยเป็นลำดับมา จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าและยกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งห้ามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share